xs
xsm
sm
md
lg

น้ำพระราชหฤทัยอันกว้างใหญ่ ต่อท้องทะเลไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกเต่าเกิดใหม่
จากสภาพท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล หากแต่ปริมาณเต่าทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลคู่กับท้องทะเลไทย กลับมีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากชาวประมงเก็บไข่เต่าทะเลไปซื้อขายเพื่อประกอบอาหาร แม้กรมประมงจะ แก้ไขกฎหมายประมง เมื่อ พ.ศ. 2493 กำหนดให้ผู้ครอบครองเต่าทะเลมีความผิดตามกฎหมายแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ครั้นความทราบยังพระเนตรพระกรรณของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยเต่าทะเล และทรงตระหนักว่า ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทย นับวันจะมีแต่ลดน้อยลง มีสัตว์น้ำหลายชนิดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะ เต่าทะเล เช่น เตามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าตาแดง ซึ่งในอดีตเคยมีเป็นจำนวนมาก แต่กลับลดลงอย่างรวดเร็วด้วยความรู้เท่าไม่การณ์ ของชาวประมงและชาวบ้านในระแวกนั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยพระราชทานเกาะมันใน จ.ระยอง ซึ่งรัฐบาลในสมัยได้ได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จัดเป็นศูนย์อนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล โดยได้พระราชทานชื่อเมื่อวัน11 สิงหาคม 2522ว่า “โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล”
พาเต่าไปวารีบำบัด
ฝึกให้เต่าชินกับการอยู่ในทะเล
ภายในศูนย์แห่งนี้ ได้มีการวิจัยชีววิทยาของเต่าทะเลอนุรักษ์ และเพิ่มจำนวนด้วยการเพาะขยายพันธุ์เต่าเพื่อปล่อยสู่ทะเลตามธรรมชาติ โดยนำไข่เต่าทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากเกาะคราม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มาทำการอนุบาลลูกเต่าแรกเกิด เมื่อลูกเต่ามีอายุประมาณ 6 เดือน ก็จะติดเครื่องหมายเพื่อปล่อยลงสู่ทะเล และลูกเต่าส่วนหนึ่งก็จะถูกนำไปเลี้ยงไว้เป็นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ต่อไป

ทุกวันนี้ สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล" ในความดูแลของ กองทัพเรือ โดยทำการสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่อยมาทั้งในเรื่องของการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เต่าทะเล และอนุบาลเต่าทะเลให้มีชีวิตยืนยาวคู่ท้องทะเลต่อไป

นับจากวันเริ่มโครงการศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา จำนวนเต่าทะเลที่เคยลดน้อยลงไป กลับมีจำนวนมากขึ้นถึงร้อย 40 ต่อปี และเต่าเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติในท้องทะเลไทยได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

“หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเต่าที่ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ จะมีชีวิตรอดอยู่ท่ามกลางทะเลยาก แต่สำหรับศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล กว่าที่จะปล่อยเต่า 1 ตัวลงสู่ท้องทะเลได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาในการอนุบาล และฝึกให้เต่าคุ้นเคยกับน้ำทะเลอยู่นานถึง 6 เดือน ถ้าไม่มีพระราชินีนาถที่ทรงห่วงใยระบบนิเวศน์ของท้องทะเลไทย โดยเฉพาะ เต่าทะเล แล้ว ทุกวันนี้เยาวชนรุ่นหลังอาจไม่รู้จักเต่า อันเป็นสัตว์ทะเลที่อยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนาน” ผู้ดูแลโครงการเล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
ให้น้ำเกลือเต่าที่ป่วย
พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เต่าทะเลนี้ มิได้ส่งผลเพียงแค่ให้ประชาชนได้ตระหนักและตื่นตัวในการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้อยู่คุ่ท้องทะเลไทยเท่านั้น

หากแต่น้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นนี้ ยังได้ก่อกำเนิด โรงพยาบาลเต่าทะเลเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อใช้ในการตรวจรักษาเต่าทะเลที่เจ็บป่วย โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนย้าย รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ในการจัดเก็บเครื่องมือทางการแพทย์ ที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาลเต่าทะเลที่สมบูรณ์

โรงพยาบาลเต่าทะเลฯ นี้ นับเป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทย และแห่งแรกในเอเชีย ที่เปิดรักษาชีวิตเต่าทะเล ถึงแม้ว่าเต่าทะเลจะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เต่าป่วยและมีอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็นและส่งผลให้จำนวนเต่าลดลงอีกด้วย

เต่าทะเลเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ คนส่วนใหญ่มักมองข้าม แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในฐานะพระแม่แห่งแผ่นดิน กลับมิได้ทรงละเลย ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่สัตว์ตัวเล็กๆก็ตามแต่ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทอดมองทุกชีวิตเป็นสิ่งมีค่า จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ทำศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลขึ้นมา อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย

เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่นี้ โรงพยาบาลเต่าเฉลิมพระเกียรติฯ จึงกำเนิดขึ้นมา โดยระดมทีมสัตวแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาเต่าทะเล จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ และจาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก มาทำการตรวจรักษาและพยาบาลเต่าทะเล ที่มีอาการเจ็บป่วย

ก่อนสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ ในยามที่เต่ามีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน ต้องเคลื่อนย้ายเต่าไปให้หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนรักษา ซึ่งค่อนข้างเป็นอันตรายต่อเต่าทะเล และเป็นภาระต่อหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้วย

แต่หลังจากที่สร้างโรงพยาบาลแล้ว เต่าจำนวนมากได้รับการชุบชีวิตให้กลับมาอยู่คู่กับท้องทะเลไทยอีกครั้ง ด้วยทีมแพทย์มืออาชีพ ที่ล้วนแต่เสียสละเวลาอันน้อยนิด เพื่อมารักษาชีวิตเต่าทะเลให้มีชีวิตยืนยาว ซึ่งทุกคนล้วนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า นับเป็นเรื่องที่ภาคภูมิใจ ที่พวกเขาจะได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มี ในการสานต่อพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่สืบไป

นี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่ทรงมีต่อทรัพยากรทางทะเล ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานสืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น