พิจิตร/พิษณุโลก - นิคมอุตสาหกรรมเหนือตอนล่าง (พิจิตร) นับวันใกล้เป็นนิคมฯ ร้าง หลังตั้งมากว่า 10 ปี บนพื้นที่กว่า 1 พันไร่ มีคนลงทุนแค่ 3 ราย แถมล่าสุด “เอคโค่” ผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ถอนการลงทุน หนีค่าแรงจาก 192 บาท เป็น 300 บาท/วัน เหลือผู้ประกอบการแค่ 2 ราย ขณะที่ Science Park ของ มน.ยังไม่ตั้งเค้า
นายสาธิต เกียรติกำจร ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) เปิดเผยว่า ตนได้รับการแจ้งจาก บริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรองเท้าขนาดใหญ่จากเดนมาร์ก เรื่องการย้ายการผลิตทั้งหมดจากโรงงานในนิคมฯ พิจิตร ไปพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 พ.ย.56 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งที่จริงแล้วสัญญาเช่าพื้นที่ที่บริษัท เอคโค่ฯ ทำกับนิคมฯ ก็กำลังจะหมดลงใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ด้วย
นายสาธิต บอกว่า สาเหตุสำคัญที่บริษัทเอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด ทิ้งพิจิตรไป เท่าที่ทราบ เป็นเพราะค่าแรง 300 บาท เป็นหลัก เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา บริษัทว่าจ้างคนในพื้นที่อัตรา 192 บาทต่อวันต่อคน แต่ปัจจุบัน ค่าแรงเท่ากันหมด 300 บาท ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจย้ายไปรวมกับบริษัทแม่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ที่อยุธยาแทน ซึ่งไม่ต้องเสียค่าขนส่งวัตถุดิบ-สินค้าที่ผลิตได้ไปให้แก่บริษัทแม่
สำหรับบริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในไทย โดยมีร้านค้า-ศูนย์จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และหาดใหญ่ รวมกว่า 30 แห่ง โรงงานที่ตั้งขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร) นับเป็นโรงงานแห่งที่ 2 บนพื้นที่รวม 26 ไร่ ที่เช่าจากนิคมฯ ในอัตรา 45,600 บาท/ไร่/ปี เพื่อผลิตชิ้นส่วนประกอบรองเท้า ที่ผ่านมาผลิตรองเท้าได้ 11 ล้านคู่ต่อปี จ้างแรงงาน 1,138 คน
ทั้งนี้ นิคมฯ พิจิตร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2541 บนเนื้อที่ 1,235 ไร่ บริเวณ ถ.พิษณุโลก-นครสวรรค์ กิโลเมตร 97-99 ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก, พิจิตร, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, ตาก, กำแพงเพชร, นครสวรรค์ และอุทัยธานี) และเป็นแหล่งผลิตสินค้าสู่สี่แยกอินโดจีน (ASEAN INTERNATIONAL CONNECTING ROUTES) แต่ก็ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้
โดยก่อนหน้านี้ มีผู้ประกอบการเข้าลงทุนเพียง 3 ราย เมื่อบริษัท เอคโค่ฯ ยกเลิกสัญญาการเช่าพื้นที่ย้ายโรงงานกลับอยุธยา จากนี้ไปนิคมฯ พิจิตร ก็จะเหลือผู้ประกอบการอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น คือ บริษัท อินเว (ประเทศไทย) และอินโนโวเวท และปั๊มน้ำมัน ปตท.
ส่วนมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เคยเซ็นความร่วมมือใช้พื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการจัดตั้งโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ