พิษณุโลก - อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมนิสิต มน.-เครือข่ายกลุ่มประชาภิวัฒน์เมืองสองแคว รวมตัวประท้วงกฎหมายล้างผิดสุดซอย ถามตรง! ถ้าเอาไฟเผามหาวิทยาลัยฯ พอมีอำนาจแล้วออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ตัวเองได้หรือไม่!? ด้านผู้บริหาร มน.กลับมาแปลก สั่งรถบัสขวางหน้าป้ายมหาวิทยาลัย แถมออกแถลงการณ์บอกการประท้วงเป็นเรื่องส่วนบุคคล
วันนี้ (4 พ.ย.) นายจักร พันธ์ชูเพชร ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยกลุ่มนิสิต ม.นเรศวร คณะรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สถาปัตย์ แพทย์ วิศวะ ฯลฯ และกลุ่มประชาภิวัฒน์ จ.พิษณุโลก รวมประมาณ 500 กว่าคน ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย บริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยฯ โดยประกาศทางเครื่องขยายเสียง ชูป้ายแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาล เชิญชวนอาจารย์ นิสิต และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม
ด้านผู้บริหาร ม.นเรศวรกลับไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของอาจารย์ ม.นเรศวรครั้งนี้ ได้นำรถบัสของมหาวิทยาลัยมาปิดกั้นบริเวณป้ายหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร
นายจักร พันธ์ชูเพชร ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า “ก่อนที่จะมาชุมนุมได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าอาจารย์จักรกับอาจารย์ 2-3 คนคิดดีแล้วหรือที่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิโทษกรรม แต่ผมไม่สนใจ ผมออกค่าใช้จ่ายเครื่องเสียง ผมซื้อธงชาติ ด้วยเงินเดือนของผม จะล่ารายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วย ขับเคลื่อนส่งไปยัง ส.ว.เพื่อให้คว่ำ พ.ร.บ.ตัวนี้”
“ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ผมรับผิดชอบดำเนินการ ถามว่าถ้าผมจะเอาไฟไปเผามหาวิทยาลัยนเรศวร และถ้าผมมีอำนาจผมจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อตัวเองได้ไหม ผมเป็นอาจารย์แล้ว ถามว่าจะสอนลูกศิษย์อย่างไร ถ้าอยู่เฉยๆ พูดแต่เชิงวิชาการเท่านั้นหรือ”
นายจักรบอกอีกว่า ขอเชิญให้พ่อแม่พี่น้องทุกคนเดินทางไปชุมนุมประท้วงที่วงเวียนหอนาฬิกา อ.เมืองพิษณุโลก เพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 16.00 น. วันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) จะเดินทางต่อไปยังศาลากลาง พร้อมกับแพทย์โรงพยาบาลพุทธชินราช
ขณะที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เผยแพร่ข้อความต่อสื่อมวลชน ระบุว่า ความเห็นในการสร้างเสริมความปรองดอง ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงเข้มแข็งของประเทศชาติ จึงขอประกาศจุดยืนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังนี้
1. การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถกระทําได้เพื่อสร้างความสามัคคี และความมั่นคงให้แก่ประเทศ แต่การออกกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ และหลักการที่แท้จริงของกฎหมาย กล่าวคือ จะต้องเป็นการนิรโทษกรรมแก่ประชาชน ผู้ซึ่งกระทําความผิดอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น
2. มหาวิทยาลัยนเรศวรไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย หรือการร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือ อันอาจก่อให้เกิดการตีความที่ครอบคลุมไปถึงการนิรโทษกรรมการกระทําความผิดใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะได้เกิดขึ้นในเวลาใด เพราะการนิรโทษกรรมดังกล่าวถือเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์โดยชัดแจ้งของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทําความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
3. ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาหลักของประเทศ มหาวิทยาลัยนเรศวรตระหนัก และห่วงใยต่อความรู้สึกของทุกฝ่ายเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัยจะได้นําประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางออก และแถลงเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการต่อไป
อนึ่ง บุคลากรและนิสิตที่แสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทําความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ก่อนที่จะมีมติใดๆ จากสภามหาวิทยาลัยขอให้ใช้สถานที่ภายนอกมหาวิทยาลัย และถือเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวเฉพาะบุคคลไม่ผูกพันมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ได้เป็น 1 ใน 25 อธิการบดี ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ ทปอ.แถลงการณ์ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยเช่นกัน