xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.แพร่เสนอทำอ่างเล็ก 159 จุด 7 อำเภอ แทนเขื่อนยมบน-ยมล่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
แพร่ - เครือข่ายภาคประชาชนระดมผู้นำชุมชน-อปท.หารือร่วมก่อนเวทีน้ำเมืองแพร่ เสนอแผนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก 7 อำเภอ 159 โครงการ ด้านคนสะเอียบแฉรัฐระดมคนหนุนสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง ขู่ไม่ฟังเสียงชาวบ้านพร้อมเข้ากรุงร่วมไล่รัฐบาล

วันนี้ (4 พ.ย.) ศูนย์น้ำจังหวัดแพร่ที่มีเครือข่ายภาคประชาชน และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แพร่เป็นแม่ข่าย ได้เชิญผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มสตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หารือกันที่ห้องประชุม อบจ. เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ก่อนที่จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ โดยมีนายศักดิ์ชัย จ.ผลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนายวัฒนา ผาทอง รองนายก อบจ. เป็นผู้นำเสนอข้อมูลความจำเป็นของเครือข่ายผู้ใช้น้ำในจังหวัด

โดยที่ประชุมมีการแจกเอกสารความจำเป็นในการกักเก็บน้ำของกรมชลประทาน และ อบจ.ในแต่ละอำเภอ ประกอบด้วย อ.ร้องกวาง ต้องการให้สร้างโครงการขนาดเล็กและขนาดกลาง 13 โครงการ อ.หนองม่วงไข่ 8 โครงการ อ.สูงเม่น 12 โครงการ อ.เด่นชัย 22 โครงการ อ.เมือง 33 โครงการ อ.วังชิ้น 36 โครงการ และ อ.ลอง 35 โครงการ

นอกจากนี้ยังแจกเอกสารสถิติปริมาณน้ำต้นทุนในจังหวัด ปริมาณน้ำไหลเข้าจังหวัด รวมในแม่น้ำยม 2,690 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ศักยภาพการกักเก็บในปัจจุบัน โดยข้อมูลปี 2555 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 121.93 ล้าน ลบ.ม. อ่างขนาดเล็ก 66 แห่ง 49.20 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำอื่น 33.33 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งจังหวัดกักเก็บได้เพียง 204.46 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ต้องการใช้น้ำ 1,625 ล้าน ลบ.ม.

แสดงให้เห็นว่ายังมีแหล่งกักเก็บน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเร่งผลักดันให้รัฐบาลเร่งสร้างแหล่งกักเก็บน้ำที่จะสร้างให้ และตามข้อเสนอของเครือข่ายลุ่มน้ำยมรวม 1,693.57 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและช่วยป้องกันอุทกภัยได้

มาตรการดังกล่าวสะท้อนภาพให้เห็นว่า ศูนย์น้ำจังหวัดแพร่มีความเห็นต่างจากโครงการในโมดูลที่ A1 ลุ่มน้ำยม ที่จะสร้างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง กั้นน้ำยม และเขื่อนแม่แลง ต.เวียงต้า อ.ลอง แต่ชาวแพร่ต้องการให้มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ทุกอำเภอ เนื่องจากเป็นต้นน้ำสาขา และใช้งบประมาณก่อสร้างที่ต่ำกว่า

ขณะที่ชาวสะเอียบ อ.สอง ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำยมมายาวนานกว่า 20 ปี ได้เดินสายดูการจัดเวทีรับฟังความเห็น ทั้ง จ.เชียงใหม่ ลำปาง และล่าสุดที่ จ.พะเยา พบว่ามีการแยกผู้ได้รับผลกระทบออกจากกัน ทำให้ผู้ที่จะถูกน้ำท่วมในเขื่อนยมบน คือ อ. เชียงม่วน จ.พะเยา ไม่ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเวที จ.แพร่

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำชาวสะเอียบ กล่าวว่า จังหวัดพยายามสร้างม็อบกดดันชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคนสะเอียบยืนยันจะเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อแสดงจุดยืน โดยจะแถลงข่าววันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ และถ้าจังหวัดยังไม่ยอมรับฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ ก็จะยกระดับเข้าร่วมเวทีไล่รัฐบาลที่กรุงเทพมหานครแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น