xs
xsm
sm
md
lg

ชาวโนนไม้แดงโคราช 100 หลังคาเรือนโวย ทุกข์หนักท่วมนานไร้รัฐเหลียวแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านโนนไม้แดง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา กว่า 100 หลังคาเรือน  โวยน้ำท่วมเดือดร้อนหนักต้องอพยพมาอาศัยอยู่บนถนนนานเกือบครึ่งเดือน ไร้หน่วยงานรัฐเหลียวแล วันนี้ ( 28 ต.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวบ้านโนนไม้แดง อ.เฉลิมพระเกียรติ โคราช กว่า 100 หลังคาเรือน โวยน้ำท่วมเดือดร้อนหนักต้องอพยพมาอาศัยอยู่บนถนนนานเกือบครึ่งเดือนไร้หน่วยงานรัฐเหลียวแล ขณะ 5 อำเภอยังวิกฤตท่วมสูง โดยเฉพาะ อ.พิมายแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ราษฎรเดือดร้อนกว่า 2.5 แสนคน พื้นที่เกษตรเสียหายมากกว่า 1.9 แสนไร่

วันนี้ (28 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า ล่าสุด ชาวบ้านโนนไม้แดง ม.16 ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมากว่า 100 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักหลังถูกน้ำจากแม่น้ำมูลไหลเข้าท่วมขังสูงมานาน ต้องอพยพครอบครัวมาอยู่ริมถนนปากทางเข้าหมู่บ้านเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวมานานเกือบครึ่งเดือนแล้ว

นายส่ง สุขรอด อายุ 60 ปี ชาวบ้านบ้านโนนไม้แดง กล่าวว่า น้ำจากเขื่อนลำมูลบน และเขื่อนลำพระเพลิงไหลมารวมกันที่แม่น้ำมูล ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านโนนไม้แดง ม.16 ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ระดับน้ำสูงกว่า 1.50 เมตร ยังไม่มีทีท่าจะลดลงและยังมีน้ำจากลำตะคองไหลมาสมทบอีก

จนถึงขณะนี้ผ่านมานานกว่า 13 วันแล้วน้ำยังคงท่วมสูงต่อเนื่อง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากบางครอบครัวไม่สามารถอาศัยบ้านเป็นที่พักอาศัยได้ ต้องพาลูกหลานรวมถึงผู้สูงอายุมากางเต็นท์เป็นที่พักชั่วคราวที่บริเวณถนนปากทางเข้าหมู่บ้าน และประกอบอาหารเพราะมีเพียงถนนทางเข้าหมู่บ้านที่น้ำท่วมไม่ถึง

“จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาและระบายน้ำให้แห้งเร็วที่สุดเนื่องจากชาวบ้านอยู่กันอย่างทุกข์ยากลำบากไม่มีใคร หรือหน่วยงานรัฐไหนมาเหลียวแล” นายส่งกล่าว

ทางด้าน นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า ล่าสุดพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมยังอยู่ที่ 31 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ (ยกเว้น อ.บัวลาย ยังไม่ถูกน้ำท่วม) รวม 244 ตำบล 2,423 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 71,521 ครัวเรือน 255,564 คน มีผู้เสียชีวิต 5 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 190,498 ไร่ บ่อปลา 63 แห่ง ที่อยู่อาศัย 1,234 หลัง วัด 30 แห่ง สิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย 306 แห่ง

สถานการณ์น้ำที่ต้องเฝ้าระวังในขณะนี้ ประกอบด้วย แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำมวลใหญ่ที่รับน้ำจากลำแชะ ลำมูลบน และลำพระเพลิง อยู่ในเขตพื้นที่ระหว่าง อ.โชคชัย กับ อ.เฉลิมพระเกียรติ จะเข้าสู่พื้นที่ อ.พิมาย ส่วนน้ำจากลำตะคอง ปริมาณน้ำมวลใหญ่จากเขตเทศบาลนครนครราชสีมา และ อ.เมืองนครราชสีมา ได้ไหลไปรวมกับแม่น้ำมูลในเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ สำหรับน้ำจากลำเชิงไกร ปริมาณน้ำมวลใหญ่อยู่ในเขต อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง แต่มวลน้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรทำให้ปริมาณการเพิ่มระดับค่อนข้างช้า และมีผลทำให้แม่น้ำมูลใน อ.พิมายมีระดับสูงขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ จ.นครราชสีมาได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยส่วนหน้าขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการบัญชาการ การระดมกำลังและทรัพยากรปฏิบัติงาน ระงับ บรรเทา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์วิกฤต และมีห้องปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานฯ และการบัญชาการเหตุการณ์ ณ อาคารสหกรณ์การเกษตรพิมาย อ.พิมาย โดยมี นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา

นายวินัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีน้ำท่วมสูงอยู่ในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย 1. อำเภอเฉลิมพระเกียรติ น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมวลน้ำได้ไหลไปรวมกับลำเชียงไกรและลำจักราช คาดว่าวันที่ 29-30 ต.ค.นี้สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

2. อ.พิมาย ยังคงท่วมพื้นที่การเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีการวางแนวกระสอบทรายที่สามแยกเกษตร ศูนย์ราชการอำเภอพิมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย และรอบตัวเมืองเขตเทศบาลฯ เพื่อป้องกันน้ำเข้าสู่พื้นที่ชั้นในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาแนวทางลดระดับน้ำที่ท่วมขัง โดยการเพิ่มแนวกระสอบทรายที่จุดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากเดิมอยู่ที่ระดับรวม 16 ซม. และสูบน้ำออกศูนย์ราชการได้กำหนดแนวการทำสะพานไม้ชั่วคราวให้ประชาชนสามารถเดินทางติดต่อราชการได้สะดวก ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,155 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 1,800 ไร่ สะพานกรมทางหลวงชนบทได้รับความเสียหายจำนวน 1 แห่ง รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 20 ล้านบาท

3. อ.ชุมพวง น้ำยังคงท่วมพื้นที่การเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4. อ.ลำทะเมนชัย น้ำยังคงท่วมพื้นที่การเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำในลำน้ำสูดสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 1.20 เมตร และ 5. อ.เมืองยาง ยังคงท่วมพื้นที่การเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น