ลำพูน - ชาวลำพูนยันเจตนารมณ์ค้าน กบอ.สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง ในโมดูล เอ1 หวั่นถูกน้ำท่วม ต้องย้ายที่อยู่ ทำครอบครัว-ญาติพี่น้องต้องแยกกันคนละทิศละทาง
วันนี้ (23 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ลำพูนว่า นายบัญชา แซ่น้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านวังหลวง นางหนูพิศ วังวงศ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 นายปรานนท์ ลิ้นฤาษี น.ส.อธิศฎา อุตสม รวมทั้งตัวแทนเยาวชนและชาวบ้าน ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง รวม 20 คน ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เมื่อวานนี้ (22 ต.ค.) เพื่อคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง บ้านห้วยตั้ง หมู่ 2 ต.ป่าพลู ซึ่งอยู่ในแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพิ่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นเวทีแรกไปเมื่อ 15 ตุลาคม ท่ามกลางกระแสข่าวการระดมคนนอกพื้นที่มาร่วมเวที
นายบัญชากล่าวว่า การที่นำชาวบ้านวังหลวงมายื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการแสดงจุดยืนและแสดงเจตนารมณ์ว่า ชาวบ้านป่าพลูขอคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตั้งตามแผนรับฟังความคิดเห็นของสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากหวั่นวิตกว่าน้ำจะท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ครอบครัวและญาติพี่น้องซึ่งอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด มีความรักความอบอุ่นต้องแตกแยกไปคนละทิศละทาง
ซึ่งนายสุวรรณ กล่าวสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายชุมพร อินตะเทพ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด และนายสิริวิชณ์ ก่ออิฐ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพื้นที่ลำพูน ได้ร่วมกันชี้แจงเกี่ยวกับการจัดเวทีการรับฟังความเห็นว่า มีประชาชนจาก 8 อำเภอ คือ อ.เมือง ป่าซาง บ้านโฮ่ง แม่ทา บ้านธิ ทุ่งหัวช้าง ลี้ เวียงหนองล่อง และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วม 2,000 คน
โดยจังหวัดอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง ขนาดความจุ 9.23 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 1 ใน 18 เขื่อนตามโมดูล เอ1 ของ กบอ. ส่วนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน 8 อำเภอที่จะได้รับผลกระทบว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรไม่ใช่การจัดทำประชามติ ซึ่งจะได้ส่งหนังสือฉบับนี้ให้แก่สำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่นายสิริวิชณ์แนะนำให้กลับไปคิดและเสนอเรื่องมาว่าจะให้ทางจังหวัดสร้างหรือทำอะไร หากเป็นโครงการในพื้นที่เล็กจะต้องให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ แต่ถ้าหากมีพื้นที่มากกว่านี้ ทางชลประทาน หรือส่วนที่เกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการแทน
สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตั้งเป็นโครงการที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเสนอให้จัดสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาภัยแล้งเมื่อปี 2530 แต่มีชาวบ้านส่วนหนึ่งคัดค้านมาจนถึงปัจจุบัน