อุบลราชธานี - ไทยยังช่วยกู้ซากเครื่องบินลาวแอร์ไลน์ที่ตกแม่น้ำโขง ล่าสุดทางลาวยืนยันพบศพเพิ่มขึ้นรวมเป็น 19 ศพ ด้านกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ส่งผู้เชี่ยวชาญการกู้ซากเครื่องบินลงปฏิบัติงานวันนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ตบเท้าเข้าลาว เพื่อขอความชัดเจนการพิสูจน์ศพผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมด 49 ราย
วันนี้ (18 ต.ค.) นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการกู้ซากเครื่องบินลาวแอร์ไลน์ ซึ่งตกลงแม่น้ำโขง เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว จนมีผู้เสียชีวิตทั้งลำ 49 คน ว่าสำหรับการกู้ซากเครื่องบินที่คาดจะมีผู้โดยสารติดอยู่จำนวนมากจะปรับแผนใหม่ หลังกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ส่งผู้เชี่ยวชาญการกู้ซากเครื่องบินและนักประดาน้ำ พร้อมอุปกรณ์ทันสมัย นอกเหนือจากชุดประดาน้ำของมูลนิธิที่เป็นหน่วยกู้ภัยมาปฏิบัติการ คาดว่าการทำงานวันนี้จะมีความคืบหน้า
ขณะที่เมื่อเช้าวันนี้ นายคอรีย์ วิกเกตต์ ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย ของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียได้มาดูสภาพห้องเก็บศพแผนกนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ เพื่อประสานความร่วมมือส่งทีมอาสาสมัครที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ซึ่งเคยเข้ามาช่วยเหลือประเทศไทย เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อหลายปีก่อนมาปฏิบัติหน้าที่ และได้เดินทางต่อไปยังเมืองปากเซ เพื่อหารือกับทางการลาว หากทางการลาวไม่ประสงค์ส่งศพมาให้ฝ่ายไทยพิสูจน์ก็จะประสานส่งทีมอาสาสมัครของออสเตรเลียเข้าไปช่วยที่โรงพยาบาลจำปาสักแทน
ด้านความเคลื่อนไหวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช้าวันนี้ พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผบช.สพฐ.ได้เดินทางไปที่เมืองปากเซ เพื่อประสานกับทางการลาวเรื่องการพิสูจน์ศพ หากลาวจะดำเนินการเอง จะส่งเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปช่วยเหลือด้วย
ทางด้านนายครรชิต คงสมของ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการเตรียมอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมกู้ซากเครื่องบินว่า ได้เตรียมรถส่องสว่าง 2 คัน และเรือท้องแบนจำนวนหนึ่ง แต่จากการประเมินของทีมงานไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะแม่น้ำโขงบริเวณจุดที่คาดว่าเครื่องบินจมอยู่มีความลึก น้ำไหลแรงและขุ่นมาก การลงดำของชุดประดาน้ำต้องใช้กระสอบทรายเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก จึงเป็นอุปสรรคในการค้นหาอย่างมาก จึงปรับแผนให้ชุดประดาน้ำของกองทัพเรือที่มีความเชี่ยวชาญเป็นหัวหน้าทีมในการปฏิบัติการค้นหาในวันนี้
**ไทยเตรียมส่งโลงเย็นใช้เก็บศพให้ลาว
เผยพบแล้วรวม 19 ศพ
ด้าน นพ.ชลิต ทองประยูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ได้รับการประสานจากทางจังหวัดให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมไว้ 2 ด้านคือ เมื่อทางการของลาวส่งศพมาให้ฝ่ายไทยทำการพิสูจน์ ที่แผนกนิตเวชวิทยาของโรงพยาบาล และจัดหาโลงศพแบบแช่เย็นจำนวน 30 โลง ส่งให้ทางฝ่ายลาวใช้เก็บศพผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นชาวต่างชาติ เมื่อทางการลาวต้องการพิสูจน์ศพเอง ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานขอเช่าโลงใช้แช่เย็นศพไว้ให้แล้ว
ขณะเดียวกันได้รับการประสานจากนายคอรีย์ วิกเกตต์ ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลียมาดูสภาพห้องเก็บศพของโรงพยาบาล เพื่อประสานส่งทีมอาสาสมัครที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ซึ่งเคยเข้ามาช่วยเหลือประเทศไทย เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ต โดยครั้งนี้ทางประเทศออสเตรเลียพร้อมจะส่งทีมมาช่วยเหลืออีก
ล่าสุดได้รับการยืนยันจากทางลาวว่า ขณะนี้หน่วยกู้ภัยสามารถค้นพบร่างผู้เสียชีวิตแล้วรวม 19 ศพ เป็นคนลาว 5 ศพ ที่เหลืออีก 14 ศพ ยังไม่ทราบสัญชาติ โดยเก็บศพไว้ที่วัดจีน บ้านโพนสะอาด เมืองปากเซ
**ลาวแจ้งพบศพเหยื่อเครื่องบินตกเพิ่มเป็น 26 ศพ
เวลา 15.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ได้แจ้งความคืบหน้าการค้นหาผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินของสายการบินลาวตกลงกลางแม่น้ำโขง ว่า จนถึงเวลา 14.50 น. พบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก รวมเป็น 26 ศพ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นคนสัญชาติใดบ้าง และเป็นคนไทยหรือไม่ เพราะศพเหล่านี้ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ซึ่ง ทางการ สปป.ลาวต้องรอการตรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันอย่างเป็นทางการ ก่อนออกประกาศรายละเอียดของผู้เสียชีวิตต่อไป ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ ที่มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ได้ไปประจำการอยู่ที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสักแล้ว
ในส่วนของไทยให้การสนับสนุนในเรื่องเทคนิคและบุคลากร โดยเครื่องบินลำเลียงเที่ยวบินพิเศษของกองบัญชาการกองทัพไทย ได้ขนอุปกรณ์ค้นหาที่มีความทันสมัย พร้อมทั้งนำเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและนักประดาน้ำ มาถึงเมืองปากเซแล้วเมื่อช่วงบ่าย และเมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. ชุดพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ได้เดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุที่เมืองปากเซแล้ว โดยมีนายรัศม์ ชาลีจันทร์ กงสุลใหญ่ไทย ประจำแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว รอรับคณะ พร้อมกับได้เตรียมข้อมูลต่างๆ ของผู้โดยสารชาวไทยทั้ง 5 คน ไม่ว่าจะเป็นลายนิ้วมือจากการทำหนังสือเดินทางอิเล็คทรอนิกส์ (อี-พาสปอร์ต) รูปถ่ายหน้าตรง ข้อมูลญาติ และข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆให้กับคณะของสตช.ใช้ดำเนินการได้ทันที ซึ่งทุกฝ่ายพยายามทำงานอย่างเต็มที่ในการค้นหาผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนติดตามข้อมูลการค้นหาศพผู้เสียชีวิตจากหน่วยงานราชการ เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ปฏิบัติหน้าที่และครอบครัวของผู้เสียชีวิต