ศูนย์ข่าวศรีราชา - ไทยออยล์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และบริษัทในเครือ ด้านประชาชนขอมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล พร้อมการฝึกแผนฉุกเฉิน
วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ศาลาประชาคม เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับกิจการองค์กร บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร และบริษัทที่ปรึกษาในเครือบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ดร.ธีรยุทธ ลิมานนท์ นายเกรียงไกร นาคะพงศ์ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงฟ้าขนาดเล็ก และบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด โดยมีประชาชนจาก 10 ชุมชน ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมประชุม
การประชุมครั้งนี้ เพื่อมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน และข้อเสนอแนะจากประชาชน เป็นครั้งที่ 2 ในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงฟ้าขนาดเล็ก และบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด ว่า โครงการดังกล่าวจะมีปัญหา หรือผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่อย่างไร เพื่อนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อจัดร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ เสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยบริษัทไทยออยล์ และบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม และข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ที่ได้เสนอแนะแนวทางต่างๆ ไว้ นำมาจัดทำแผนงาน และแนวทางป้องกันที่ชัดเจนขึ้นตามที่ประชาชนร้องขอ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสของประชาชน โดยโครงการครั้งที่ 1 ดังกล่าวเกิดขึ้นไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556
สำหรับความเป็นห่วงของประชาชนบริเวณพื้นที่การก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้สอบถาม หรือเน้นในปัญหาอะไรมาก เนื่องจากได้เสนอแนวความคิดในครั้งแรกแล้ว และครั้งนี้จึงไม่มีปัญหา หรือข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมขึ้นเลย ทำให้การสอบถามความคิดเห็นประชาชนครั้งนี้จบลงด้วยดี และพร้อมจะนำเสนอร่างรายงานในครั้งต่อไป
นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับกิจการองค์กร บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงฟ้าขนาดเล็ก และบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาด 16 นิ้ว ในพื้นที่ของบริษัทฯ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานี ควบคุม และมาตรวัดเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท. (มหาชน) โดยวางท่องตามแนวถนนทางเข้าโรงกลั้นน้ำมันไทยออยล์ จนถึงสี่แยกไทนออยล์บ้านทุ่ง แล้วเลี้ยวซ้ายตัดเข้าพื้นที่ของบริษัทไทยออยล์ ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร โดยว่าจ้างบริษัทซีคอท จำกัด จัดทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญความเดือนร้อน และผลที่จะกระทบถึงประชาชนโดยรอบพื้นที่เป็นหลัก ได้มีนโยบายในการจัดการจัดทำรายงานผลกระทบ พร้อมทั้งได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีนโยบายว่า โครงการดังกล่าวจะต้องมีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งการออกแบบท่อส่งก๊าซจะต้องได้มาตรฐานมากที่สุด สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกขนาด 40 ตัน ที่วิ่งผ่านได้โดยไม่เกิดความเสียหาย พร้อมทั้งได้มีการวางมาตรการในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และการป้องการหลังจากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ
ด้าน น.ส.ปทิตา ศรีนุตตระการ กรรมการชุมชนบ้านทุ่ง เผยว่า ที่ผ่านมาทางโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ มีการจัดทำ CSR (Corporate Social Responsibility) กับชุมชนได้ดีมากโดยได้ลงมาดูแลความความเป็นอยู่ของประชาชนมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ซึ่งในปัจจุบัน ชาวบ้านรุ่นเก่าๆ จะรู้สึกรัก และและผูกพันกับไทยออลย์ไปแล้ว โดยบางคนอาจจะลืมไปแล้วว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่
แต่ตนเป็นคนรุ่นใหม่รู้สึกกังวลว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการหลายแห่งมีการขยายการลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวอุดม-แหลมฉบัง ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านถูกบีบให้เหลือน้อย บางคนทนไม่ได้ก็ต้องขายที่ดินให้แก่โรงงาน แล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น บางคนที่รักบ้านเกิดก็ไปยอมออกไปไหน
จึงอยากจะฝากถึงโรงกลั่นว่า สิ่งที่ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านในวันนี้ดีอยู่แล้ว หากสามารถทำได้จริงๆ แต่อยากให้เพิ่มในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถรับรู้ถึงการดำเนินการ เช่น กรณีของการวางท่อก๊าซ ต้องการให้ทางไทยออยล์แจ้งให้ประชาชนรับรู้ว่าเป็นก๊าซประเภทไหน หากเกิดการรั่วไหลจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดอยู่แล้วขึ้น จะได้มีการวางแผน หรือเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์ได้
รวมทั้งขอให้ไทยออยล์มีการซ้อมแผนฉุกเฉินหากเกิดก๊าซรั่ว หรืออื่นๆ ให้แก่ชาวบ้านด้วย เพราะที่ผ่านมา ทางโรงกลั่นฯ จะมีการซ้อมแผนฯ กันเฉพาะพนักงานเท่านั้น หากเกิดเหตุจริงๆ ขึ้นมาประชาชนก็ได้ตกใจ และทำอะไรไม่ถูก