ฉะเชิงเทรา - มวลน้ำรอบทิศยังไหลบ่าเข้าท่วมแปดริ้ว ขณะนายกเล็กบ่นอุบไร้งบช่วยเหลือเร่งด่วนฉุกเฉิน ขณะชาวบ้านขนของหนีน้ำไม่หยุด การสัญจรถูกตัดขาดทุกเส้นทาง ต้องใช้เรือโฟมแทนรถ
วันนี้ (13 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ล่าสุด ระดับน้ำใน อ.ราชสาส์น อ.บางคล้า ยังคงเพิ่มสูงขึ้นวันละ 10 เซนติเมตร เส้นทางสัญจถูกตัดขาดหมดสิ้น ทั้งรถเล็ก รถใหญ่ไม่สามารถขับผ่านพื้นที่ไปได้ โดยเฉพาะสายบางคล้า-หัวไทร และพนมสารคาม-บ้านสร้าง รวมถึงเส้นทางในหมู่บ้านนั้น โดยน้ำท่วมสูงเสมอไส้กรองอากาศของเครื่องยนต์รถบรรทุก 6 ล้อ
ขณะที่ชาวบ้านที่ยังมีเรือเก็บไว้พากันนำเรือออกมาติดเครื่องยนต์ใช้สัญจร และพายออกมาอยู่บนท้องถนน บางรายใช้แผ่นโฟมอย่างหนามาดัดแปลงใช้ในการสัญจร และขนข้าวของหนีน้ำเช่นเดียวกัน
นายอำนาจ ประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำ อ.บางคล้า กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากทางโลกภายนอก คือ แผ่นโฟมอย่างหนาสำหรับใช้ลอยน้ำขนย้ายสิ่งของ และสัญจร รวมถึงขาดแคลนกระสอบทรายที่จะนำมาใช้ป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมสู่ตัวบ้านในจุดที่น้ำยังท่วมไม่สูงมากนัก
ขณะที่งบประมาณช่วยเหลือภัยพิบัติจากทางจังหวัดนั้น ทราบว่ามีเจียดมาให้เพียงอำเภอละ 5 แสนบาทเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะใช้ทำอะไรได้ อีกทั้งการสั่งซื้อทราย และแผ่นโฟมมาให้การช่วยเหลือชาวบ้านนั้นยังต้องใช้เงินสดในการจัดซื้อจากร้านค้านอกพื้นที่ ซึ่งหากไม่จ่ายเงินสด ทางร้านก็จะไม่นำมาส่งขายให้ จึงต้องใช้เงินทุนส่วนตัวในการควักจ่ายไปก่อน
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอีกมากมายที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องควักจ่ายกันเอง โดยที่ไม่รู้ว่าจะนำไปเบิกจ่าได้จากที่ใด เช่น การจัดหาข้าวกล่อง และน้ำดื่มไว้คอยบริการเลี้ยงดูเจ้าหน้าที่ที่เทศบาลจัดจ้างมาบริการประชาชน และหน้าที่ทหารที่มาคอยช่วยเหลือชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรายจ่ายประจำวันที่ไม่สามารถเบิกคืนจากที่ใดได้
“ฝากถามถึงยังรัฐบาลว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มัวทำอะไรกันอยู่ จึงไม่มีการจัดเตรียมการระบบบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งแผนในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่ขยายตัวเป็นวงกว้างอยู่ในนี้ และอยากจะฝากถามไปอีกด้วยว่า งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทไปอยู่ที่ไหน เพราะที่ผ่านมา ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ยังไม่เคยได้รับการจัเพื่อนำมาปรับปรุงร่องน้ำ คูคลอง ทางการระบายน้ำ ขณะเดียวกันก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีหน่วยงานจากส่วนกลางเข้ามาพัฒนาลำคลอง และประตูน้ำในพื้นที่เลย ทั้งที่มีประสบการณ์น้ำท่วมในปี 2554 แล้ว”