xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมฉะเชิงเทราปีนี้เกินคาด หลังถูกพายุฝนถล่มใส่หลายลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉะเชิงเทรา - สถานการณ์น้ำท่วมฉะเชิงเทรา ปีนี้เกินคาด หลังภาคตะวันออกตอนบนถูกพายุฝนถล่มใส่หลายลูก และมีฝนตกลงมาอย่างหนัก โดยหน่วยงานรัฐไร้การติดตาม และประเมินสถานการณ์ที่ถูกต้อง จนสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ เริ่มบอกเหตุระลอกแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.ย.56 ที่มีมวลน้ำป่าไม่ทราบแหล่งต้นทางที่แน่ชัดไหลบ่าเข้าท่วมโรงเรียนบ้านห้วยหิน ตั้งอยู่เลขที่ 194 ม.1 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ระดับน้ำท่วมสูง 50 ซม. หลังจากในพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืน จนผู้บริหารโรงเรียนต้องสั่งหยุดการเรียนการสอน และปล่อยเด็กนักเรียนกลับบ้านครึ่งวัน

สำหรับน้ำที่ไหลบ่าลงมานั้น มาจากห้วยโสม และห้วยน้ำใส พื้นที่ทางตอนใต้ของอ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ซึ่งเป็นอ่างขนาดเล็ก มีความจุขนาด 4 ล้าน ลบ.ม. วันถัดมา โรงเรียนบ้านนาโพธิ์ และอีกหลายหมู่บ้านในเขตพื้นที่ ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ได้ถูกน้ำป่าซัดเข้ามาถล่มใส่พื้นที่จมโรงเรียน และชุมชนอีก 5 หมู่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่ต่ำทางตอนใต้ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้งแควระบม และสียัด ขนาดความจุรวมกันทั้งสองแห่ง 475 ล้าน ลบ.ม. ลงสู่ใต้พื้นน้ำในทันทีที่ระดับความสูง 1 เมตร

ขณะที่การช่วยเหลือในระดับอำเภอ และจังหวัดนั้น ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ โดยสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกปล่อยให้หน่วยงานในพื้นที่ ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท้องถิ่น บริหารจัดการกันเอง โดยมวลน้ำจากทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวได้ไหลบ่าลงมาสู่พื้นที่ลุ่มทางตอนล่าง เข้าท่วมพื้นที่ ต.เกาะขนุน ต.ท่าถ่าน และ ต.พนมสารคาม อ.พนมสาคาม ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นจุดใหญ่ และเป็นชุมชนหนาแน่น ที่มีทั้งโรงพยาบาลพนมสารคาม วัด และโรงเรียน ตลอดจนย่านการค้า คือ ตลาดท่าเกวียน ทางหน่วยงานภาครัฐจึงเริ่มขยับตัวที่จะเข้าไปติดตามสถานการณ์ และทำการบริหารจัดการมวลน้ำ ด้วยการควบคุมการเปิดปิดการระบายประตูน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำคลองท่าลาด

ส่วนในเขตพื้นที่ทางตอนบนเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งในเขต จ.ปราจีนบุรี และสระแก้ว ได้เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ทางตอนบนเช่นกัน ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ก่อนที่จะไหลลงมาตามลำน้ำบางปะกง ผ่าน อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมืองปราจีนบุรี และ อ.บ้านสร้าง สู่เขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดปลายทางก่อนออกสู่ทะเล โดยมวลน้ำชุดแรกจากจังหวัดปราจีนบุรี ได้เริ่มไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ทางตอนบนระหว่างรอยต่อ จ.ปราจีนบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ที่บ้านบางกระดาน ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

ขณะเดียวกัน ยังมีมวลน้ำบางส่วนไม่ได้ไหลลงมาตามลำน้ำบางปะกงเพียงเส้นทางเดียว แต่กลับไหลลัดบ่าข้ามทุ่งศรีมโหสถ (โคกปีบ) เข้าสู่พื้นที่เขต อ.ราชสาส์น ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ประกอบกับในพื้นที่ อ.ราชสาส์น และบางคล้านั้น ได้มีมวลน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากพื้นที่ทางตอนบน ในเขต อ.พนมสารคาม ที่ถูกน้ำป่าท่วมเป็นทุนอยู่ก่อนหน้าแล้ว จึงยิ่งทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังเป็นการหลั่งไหลลงมารวมกันจากพื้นที่รอบด้านหลายทิศทาง จนทำให้ทางหน่วยงานราชการนั้นไม่สามารถที่จะเข้าไปบริหารจัดการได้ และเกินกว่าการประเมินสถานการณ์ไว้ในที่ประชุม จึงไม่สามารถรองรับได้อย่างทันท่วงที

สำหรับพื้นที่ อ.ราชสาส์น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมใหญ่มาก่อนเป็นเวลานานมากแล้ว กว่า 30 ปี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นท้องนา และมีพื้นที่ในการรองรับน้ำในห้วงเวลาปกติมากพออยู่แล้ว ขณะที่ในเขตพื้นที่ อ.บางคล้า นั้นถือว่าเป็นเจ้าประจำที่มักจะถูกน้ำเอ่อล้นขึ้นท่วมใน ต.บางกระเจ็ด และหัวไทร เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นท้องทุ่งแบนราบต่ำ และมักจะถูกมวลน้ำที่ถูกระบายออกมาจากทางภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ไหลบ่าล้นออกมาจากแม่น้ำบางปะกง เข้าท่วมสูงในพื้นที่อยู่เป็นประจำ เหตุเพราะอยู่ทางตอนใต้ของประตูระบายน้ำบางขนาก บริเวณปากคลองแสนแสบ และอยู่ต่ำกว่าปากคลองหกวา ที่ถูกแบ่งน้ำมาจากเขตภาคกลาง ระบายลงมาสู่ในพื้นที่

หลังมวลน้ำชุดแรกทั้งจากปราจีนบุรี และลุ่มน้ำแควระบมสียัด เริ่มทรงตัว และเริ่มลดระดับลงเล็กน้อย ในพื้นที่กลับมีฝนตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องติดต่อกัน นานกว่า 4-5 วันเต็ม จึงยิ่งทำให้ระดับน้ำขยับตัวสูงขึ้นอีก และขยายตัวออกไปท่วมสูงเป็นวงกว้างล้นทะลักออกไปจนถึงยังในเขตท้องที่ อ.แปลงยาว และ อ.บ้านโพธิ์ ตลอดจนยังมีมวลน้ำจากทางตอนบนของลุ่มน้ำ จ.นครนายก ได้ไหลบ่าเข้าท่วมในเขตพื้นที่ ต.บึงน้ำรักษ์ ดอนฉิมพลี ดอนเกาะกา และโยธะกา ในเขตท้องที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว อีกด้วย ทั้งที่อยู่ทางด้านฝั่งขวาของลำน้ำบางปะกงติดกับพื้นที่ เขตหนองจอก กทม.ทั้งที่ในปีนี้ยังไม่มีสถานการณ์น้ำท่วม ถึงแม้ระดับน้ำจะไม่สูงมากนักก็ตาม

ในเขตภาคตะวันออกตอนบนยังคงไม่หยุดนิ่ง อีกทั้งยังคงลุกลามต่อเนื่องไปสู่ในเขต จ.ชลบุรี ที่ อ.เกาะจันทร์ พนัสนิคม พานทอง และ อ.เมืองชลบุรี อีกด้วย หลังจากเกิดภาวะอ่างเก็บน้ำทางตอนบนของ จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มเต็มล้นความจุหมดทุกอ่าง ทั้งอ่างลาดกระทิง ที่ความจุ 4 ล้าน ลบ.ม. อ่างแควระบม 55 ล้าน ลบ.ม. และอ่างสียัด 420 ล้าน ลบ.ม. จึงเริ่มมีการปล่อยให้น้ำล้นระบายออกมาเหนือขอบปากสปริงเวย์วันละนับล้าน ลบ.ม.

ประกอบกับมวลน้ำจาก จ.ปราจีนบุรี ยังไหลลงมาไม่สุด และยังคงมีการเอ่อล้นท่วมสูงขึ้นอีกในหลายพื้นที่ที่เคยถูกท่วมเดิมแบบซ้ำซากอีก 2-3 ระลอก และยังมีแนวโน้มของระดับน้ำที่สูงมากขึ้นกว่าเก่าอีกด้วย จึงเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมในเขตภาคตะวันออกปีนี้จะยังคงไม่คลี่คลายลงไปได้อย่างง่ายดายมากนัก

ส่วนด้านการบริหารจัดการ และความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมนั้น หน่วยงานที่มีความพร้อม และรวดเร็วที่สุด คือ หน่วยทหารในพื้นที่ที่สามารถแทรกซึมเข้าถึงประชาชนได้ดีกว่าหน่วยงานอื่นๆ ส่วนหน่วยงานระดับ อบต. และกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้น บางแห่งยังเกิดความสับสน และผิดพลาด รวมทั้งยังมีการแบ่งสายทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย

โดยเฉพาะในส่วนของความช่วยเหลือเบื้องต้นในการแจกจ่ายถุงยังชีพนั้น ยังต้องรอหัวขบวนผู้เป็นนักการเมืองใหญ่เข้ามาแจกจ่าย และมีบางจุดได้มีการนัดแนะให้ชาวบ้านมาเฝ้ารอเก้อเป็นเวลานานจนหมดวัน ทั้งที่ยังคงเกิดความเดือดร้อนอยู่ในครอบครัว และต้องทำการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำท่วมอยู่ภายในบ้าน

ขณะที่มูลค่าของถุงยังชีพที่ได้รับแจกมานั้น มีเพียงข้าวสาร 5 กก. บะหมี่ 3 ห่อ ปลากระป๋อง 3 กระป๋อง และน้ำดื่ม 2-3 ขวด ซึ่งสามารถใช้ยังชีพจริงได้เพียง 2-3 มื้อเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น