เชียงราย - รอง ผบช.ภ.5 นำทีมประชุมร่วมอัยการจังหวัดเชียงราย ตามคดีขบวนการค้ายาโอนเงินข้ามประเทศ พร้อมหารือแนวทางใช้ ป.วิอาญา มาตรา 20 ตามจับแก๊งค้ายาเสพติดนอกราชอาณาจักรไทย
วันนี้ (3 ต.ค.) พล.ต.ต.ชำนาญ รวดเร็ว รอง ผบช.ภ.ภ. 5 ร่วมกับนายไพรัช ตั้งศรีไพโรจน์ อัยการจังหวัดเชียงราย ประชุมตำรวจระดับสูงใน จ.เชียงราย ตำรวจภูธรภาค 5 และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีบุคคลที่มีพฤติการณ์ทำธุรกรรมทางการเงินในลักษณะโพยก๊วน ที่ห้องประชุมดุรงควิบูลย์ บก.ภ.จว.เชียงราย
โดยที่ประชุมหารือกรณีต้องดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและค้ายาเสพติด แต่คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและสร้างเครือข่าย จนมีเงินหมุนเวียนที่ชายแดนแต่ละปีกว่า 10,000-20,000 ล้านบาท ทั้งยังพบว่ามีแหล่งผลิตยาเสพติดที่กระจายอยู่ทั่วรัฐฉาน ประเทศพม่า กว่า 11 แหล่งใหญ่
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือคดีที่เกี่ยวข้อง 4 คดี หนึ่งในคดีดังกล่าว คือ การดำเนินการกับ พ.ท.ยี่เซ หัวหน้ากลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดเผ่ามูเซอดำ ที่มีฐานที่มั่นและแหล่งผลิต ที่ฐานเอดิ ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง และอ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยพบว่าการตรวจยึดของกลาง โดยเฉพาะยาบ้าในฝั่งไทยหลายครั้ง ล้วนเชื่อมโยงกับ พ.ท.ยี่เซหลายครั้ง แต่ไม่สามารถสาวไปถึงตัวได้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในฝั่งไทย
ขณะที่การประสานขอความร่วมมือระดับท้องถิ่นกับทางการประเทศพม่าเป็นไปด้วยความล่าช้า บางคดีมีการจับกุมพร้อมของกลางจำนวนมากในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ตรงกันข้าม อ.แม่สาย แต่ไม่ได้รับบันทึกจับกุมและรายละเอียดของคดี แม้จะประสานกับทางการท้องถิ่นพม่ามาหลายปีแล้วก็ตาม
พล.ต.ต.ชำนาญกล่าวว่า หลายครั้งที่มีการจับกุม และยึดของกลางคดียาเสพติดในพื้นที่ชายแดนเชียงรายแล้ว ทางพนักงานสอบสวนไม่รู้ว่าเป็นคดีที่จะต้องดำเนินการตาม ป.วิอาญา ตามปกติหรือไม่ หรือจะเป็นคดีระหว่างประเทศ
ขณะที่สถานการณ์ตามชายแดนพบว่า มีกลุ่มผู้รับจ้างขนเงินเพื่อการโอนเงินไปมาหลายบัญชีให้กับขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินคดีมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินต่างๆ และต้องทำให้ถึงที่สุดเพื่อหาตัวผู้บงการให้ได้ต่อไป
ด้านตัวแทนอัยการจังหวัดเชียงรายได้ให้ข้อมูลว่า กรณีคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ จะใช้ ป.วิอาญา มาตรา 20 ซึ่งเมื่อเข้าสู่คดีลักษณะนี้ทางอัยการสูงสุดจะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนโดยตำแหน่ง ดังนั้นจึงอยากให้พนักงานสอบสวนของตำรวจได้ส่งข้อมูลไปปรึกษากับอัยการจังหวัดก่อน เพื่อร่วมกันวางแนวทางว่าจะเป็นคดีประเภทใดจะมีการขอออกหมายจับตามกระบวนการปกติได้หรือไม่ หากผู้ต้องหาอยู่ในประเทศอื่นก็จะได้เสนอให้อัยการสูงสุดรับเป็นคดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ลักษณะเหมือนคดีปล้นและยิงลูกเรือจีน 13 ศพเมื่อเดือนตุลาคม 2554
นายไพรัชกล่าวว่า พนักงานสอบสวนไม่ต้องกังวล เพราะสามารถดำเนินคดีไปตาม ป.วิอาญา ปกติทั่วไป แต่ถ้าพบเกี่ยวข้องกับบุคคลนอกประเทศ ค่อยแจ้งอัยการก็ได้ ซึ่งกรณีนี้การดำเนินการก่อนหน้านี้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการออกหมายจับ หรือขอข้อมูลจากทางการท้องถิ่นประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทางตำรวจประสบปัญหาขอแล้วไม่ได้ หรือเกรงว่าจะมีผลต่อการพิจารณาในชั้นศาลนั้น เมื่อโอนไปเป็นคดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ก็สามารถใช้กระบวนการนี้ประสานกับรัฐบาลพม่าเพื่อขอความร่วมมือได้