อ่างทอง - ชาวบ้านอ่างทองเริ่มเครียดหลังน้ำท่วมสูงมานานกว่า 1 สัปดาห์ เผยชีวิตต้องอยู่อย่างยากลำบาก เสี่ยงกับสัตว์มีพิษที่หนีน้ำขึ้นไปในบ้าน อีกทั้งหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าชดเชยเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์น้ำเจ้าพระยาที่อ่างทอง ยังเลยจุดวิกฤต ด้าน ปภ.สรุปสถานการณ์น้ำท่วม 25 จังหวัด เสียชีวิตแล้ว 22 ราย
วันนี้ (30 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อ่างทอง ว่า หลังจากฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ จ.อ่างทอง จนเกิดน้ำท่วมบ้านเรือนมานานกว่า 1 สัปดาห์ ขณะนี้ได้ทำให้ประชาชนบ้านที่ถูกน้ำท่วมเริ่มมีความเครียด เนื่องจากไม่สามารถที่จะออกไปประกอบอาชีพหารายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัวได้ ขณะเดียวกัน กลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพิชผลทางการเกษตรก็ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ ต.โผงเผง อ.เมือง จ.อ่างทอง ที่อยู่ในสภาพน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 1-2 เมต รมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว
ชาวบ้านหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขณะนี้พวกตนมีความเป็นอยู่ลำบากมาก เนื่องจากชาวบ้านที่มีบ้านชั้นเดียวไม่สามารถที่จะเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านได้อีก เนื่องจากบ้านถูกน้ำท่วมหมดทั้งหลัง ต้องอพยพขึ้นไปอยู่ริมถนน ส่วนคนที่มีบ้านสูงแบบยกพื้นที่ 2 ชั้นก็ขึ้นไปอาศัยอยู่ชั้นบน ส่วนสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ก็ต้องจัดกรงให้อยู่ร่วมกันบนบ้าน อีกทั้งยังต้องเสี่ยงกับสัตว์มีพิษที่หนีน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่องที่มากับน้ำ และหลบเข้าอาศัยอยู่ในบ้านด้วย
“ขณะนี้ชาวบ้านหลายคนเริ่มเกิดภาวะเครียดเนื่องจากความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก พืชผลการเกษตรเสียหาย ไม่มีรายได้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลัวไม่ได้รับการช่วยเหลือในการชดเชยน้ำท่วมเหมือนครั้งที่ผ่านมา” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเลยจุดวิกฤต โดยล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 2,195 ลบ.เมตร/วินาที ทำให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านสถานีโทรมาตร C7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองอยู่ที่ 2,208 ลบ.เมตร/วินาที ระดับน้ำสูง 8.19 เมตร/รทก. ส่งผลให้พื้นที่ราบลุ่มในเขต ต.บ้านอิฐ ต.บ้านแห ต.จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง และ ต.โผงเผง ต.นรสิงห์ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 500 หลังคาเรือน มีพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์เสียหายเป็นจำนวนมาก
**ปภ.สรุปน้ำท่วม25 จังหวัด ตายแล้ว 22 ราย
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 เกิดสถานการณ์อุทกภัย รวม 32 จังหวัด 233 อำเภอ 1,384 ตำบล 11,033 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 809,646 ครัวเรือน 2,789,398 คน บ้านเรือนเสียหาย 11,400 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,943,000 ไร่ ถนน 4,265 สาย สะพาน 174 แห่ง ฝาย/ทำนบ 515 แห่ง ผู้เสียชีวิต 22 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ พะเยา และแม่ฮ่องสอน
“ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 25 จังหวัด แยกเป็น น้ำป่าไหลหลาก 21 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ยโสธร และมุกดาหาร ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุทัยธานี ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ส่วนสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 21 อำเภอ 160 ตำบล 809 หมู่บ้าน” อธิบดี ปภ. กล่าว
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวม นายฉัตรชัย กล่าวว่า ยังต้องเฝ้าระวังชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้แม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขามีระดับน้ำสูงขึ้น
อีกทั้งในช่วงวันที่ 30 กันยายน 2556 พายุไต้ฝุ่นหวู่ติ๊บจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนม ทำให้ด้านตะวันออก และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือด้านตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งบางจังหวัดประสบสถานการณ์อุทกภัยอยู่แล้ว อาจส่งผลให้สถานการณ์ขยายวงกว้างมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งกำชับให้ ปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ จัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต และเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที และครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะพื้นที่ฝนตกหนัก และสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น