ปราจีนบุรี - ชาวบ้านในปราจีนบุรี ผวาน้ำป่าจากสระแก้วไหลทะลักถึงอำเภอกบินทร์บุรีแล้ว ด้านตัวเมืองปราจีนบุรี เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
วันนี้ (24 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หลังจากที่มีม็อบกบินทร์บุรี ปิดถนนสายสุวรรณศร เพื่อเรียกร้องให้เปิดฝายระบายน้ำบ้านเพร็ชชะเอิม ต.วังดาล หลังจากเปิดฝายเพียง 1 วัน น้ำลดลง 5-10 เซนติเมตร สร้างความสบายใจให้แก่ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลกบินทร์ว่า น้ำจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า มวลน้ำก้อนใหญ่จากจังหวัดสระแก้ว ได้ไหลมาถึงบ้านปากน้ำ หมู่ 1 ต.บ่อทองแล้ว คาดว่ามวลน้ำก้อนนี้จะไหลมาถึงเขตเทศบาลตำบลกบินทร์ในช่วงเย็นวันนี้ และทำให้ระดับน้ำจะสูงขึ้น 50-60 เซนติเมตร สร้างความหวาดผวาให้แก่ชาวบ้านอีกครั้ง
นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่าชาวบ้านจากบ้านเลขที่ 12/3 หมู่ 9 บ้านโคกชวาง มีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง หน่วยกู้ภัยจึงได้เข้าไปช่วยเหลือ สภาพน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร มีกระแสน้ำไหลแรง ต้องใช้เรือท้องแบนติดเครื่องฝ่ากระแสน้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว พบบ้านเรือนกว่า 50 หลังคาเรือน จมน้ำเหลือเพียงชั้นบนอีกเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ป่วยชื่อนายดุสิต สิทธิ อายุ 48 ปี ผู้อยู่ในสภาพช่วยตนเองไม่ได้ ต้องใส่สายออกซิเจนตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง และประสานทางหน่วยกู้ชีพพยาบาลสว่างปราจีนบุรี มารับผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ โดยใช้เวลาในการเช้าช่วยครั้งนี้นานกว่า 40 นาที
ทางด้านอำเภอเมืองปราจีนบุรี น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนใกล้ตีนเขา ที่หมู่บ้านบ่อแร่ หมู่ 12 และหมู่บ้านธารเลา หมู่ 13 ต.เนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ราษฎรได้รับความเดือดร้อนรวมกว่า 30 ครัวเรือน เป็นน้ำป่าหลากจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อ ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 20-50 ซม.
เบื้องต้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบลเนินหอม (อบต.) ได้ช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นได้ในเบื้องต้น
นายเกียรติ ศิริวัฒน์ภัทรา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเนินหอม (อบต.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ติดตีนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้ระดับน้ำลดลงเร็วกว่าปกติ มากกว่า 10 ซม. สภาพน้ำป่าเป็นน้ำที่หลากมาเร็ว และแห้งเร็ว เหลือเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำบางส่วนเท่านั้น
ในเบื้องต้นประชาชนยังสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ และที่พระอุโบสถวัดธารเลา ที่ถูกน้ำท่วมสูงระดับน้ำได้ลดลงเกือบปกติเช่นกัน เบื้องต้นหากไม่มีฝนตกลงมาจะคืนกลับสู่ภาวะปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะน้ำป่าหลากท่วมถึง 4-5 ปี ต่อเนื่องซ้ำซากดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่รอบตีนเขาใหญ่มรดกโลกปัจจุบันมีการกว้านซื้อจากนายทุน หรือนักลงทุนตลอดจนผู้มีฐานะ ที่นิยมซื้อที่ดินเพื่อทำที่พักตากอากาศ หรือบ้านพักรอบๆ ตีนเขาใหญ่มรดกโลก ที่เป็นแหล่งโอโซนอันดับ 7 ของโลก และรวมถึงราษฎรเองมีการถมที่ดินปิดกั้นทางเดินน้ำตามธรรมชาติ
เมื่อน้ำป่าหลากลงมาทำให้เหมือนแอ่งรองรับน้ำเกิดภาวะน้ำป่าหลากดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีอำนาจในการจัดระเบียบ โดยเฉพาะวางผังเมืองที่ราษฎรสามารถถมที่ได้โดยไม่ผ่านหน่วยงานใดๆ