น่าน - จังหวัดน่านประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพด พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์ม็อบที่อาจจะเกิดขึ้น หลังแกนนำจะยกระดับกดดันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.)
นายชุมพร แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายกาจพล เอิบสุขสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้เรียกประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่านได้เสนอ 4 ข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย คือ 1. ขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการแทรกแซงการรับซื้อข้าวโพดไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2557 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดน่านล่าช้ากว่าพื้นที่อื่น
2. การขอให้รัฐบาลเพิ่มราคารับซื้อ จากความชื้นเกินร้อยละ 30 จากราคา 7 บาท ให้รับซื้อที่ 8 บาท และค่าความชื้นเกินร้อยละ 14.5 จากราคา 9 บาท ให้รับซื้อที่ 10 บาท
3. ขอให้รัฐบาลเพิ่มปริมาณการรับซื้อข้าวโพดจากรายละไม่เกิน 25 ตัน ให้เพิ่มเป็น 50 ตัน และ 4. ให้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดน่านใหม่ โดยกำหนดให้เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนได้ไม่เกินรายละ 70 ไร่ และต้องรวมถึงเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาเกษตรกรกว่า 500 คน นำโดยนายวุฒิไกร กุลกัลไชย นายกสมาคมผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดน่าน ได้มายื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และจะติดตามความชัดเจนการให้ความช่วยเหลือในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.)
นายภาณุ ขันธ์แก้ว พาณิชย์จังหวัดน่าน ได้รายงานความคืบหน้าว่า จังหวัดน่านได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 11 ก.ย. 56 ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มเกษตรกรได้เรียกร้องยื่นข้อเสนอ โดยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ ส.ส.น่าน เพื่อพิจาณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อความชัดเจนการให้ความช่วยเหลือตามข้อเรียกร้อง แต่ข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อเป็นเชิงนโยบายระดับรัฐบาล ซึ่งเกินอำนาจระดับจังหวัด โดยรัฐบาลได้ใช้วิธีการแทรกแซงราคารับซื้อด้วยการช่วยผู้ประกอบการรับซื้อที่เข้าร่วมโครงการ โดยต้องรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรตามเงื่อนไขและราคาที่กำหนด และรัฐบาลจะชดเชยให้กิโลกรัมละ 1.50 บาท แต่ด้วยกลไกราคาตลาดกลางทำให้ผู้ประกอบการเสี่ยงต่อการขาดทุน จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะไม่รับซื้อตามราคาแทรกแซง โดยขอความร่วมมือทุกอำเภอได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ว่า เรื่องการรับซื้อราคาข้าวโพดเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐบาลช่วยเหลือเพียงบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน การบังคับราคาการรับซื้อจึงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวจากแกนนำเกษตรกรที่อาจจะมีการยกระดับการเรียกร้องด้วยกลุ่มมวลชนและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่ได้รับความเดือดร้อนทุกอำเภอที่จะนัดชุมนุมกดดันในวันพรุ่งนี้ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน ขณะที่จังหวัดน่าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อสรุปความชัดเจนเพื่อใช้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม