เชียงราย - ชาวบ้านรวมตัวปิดทางเข้า-ออกที่ว่าการอำเภอแม่จัน เรียกร้อง นอภ.เร่งแก้ปัญหานายทุนอ้างสิทธิครอบครองที่สาธารณะ “เวียงหนองหล่ม” หนองน้ำในตำนาน พร้อมหาช่องปลด ผญบ.หนุนนายทุน
วันนี้ (23 ก.ย.) กลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่ลัว ม.1 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย ประมาณ 150 คน นำโดยนายสมพงษ์ และนายสวิง จันทาพูน ชาวบ้านแม่ลัว ได้รวมตัวชุมนุมที่หน้าที่ว่าการ อ.แม่จัน
ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้นายจตุพร ชนะศรี นายอำเภอแม่จัน แจ้งผลการตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องพื้นที่สาธารณะ “เวียงหนองหล่ม” เนื้อที่กว่า 15,000 ไร่ ครอบคลุม ต.ท่าข้าวเปลือก จันจว้า อ.แม่จัน และ ต.โยนก อ.เชียงแสน ถูกกลุ่มทุนเข้าอ้างสิทธิครอบครอง ไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ รวมถึงข้อเรียกร้องให้ปลดนายปั๋น ศรีสุวรรณ ผญบ.แม่ลัว พ้นตำแหน่ง จัดเลือกตั้งใหม่ เพราะสงสัยว่าจะสนับสนุนกลุ่มทุนฮุบที่สาธารณะ
นายสวาท ชนสยอง อายุ 54 ปี แกนนำชาวบ้านอีกคน กล่าวว่า ชาวบ้านมาชุมนุมแล้ว 4 ครั้งในรอบ 2 เดือน เราไม่อยากชุมนุมเป็นครั้งที่ 5 อีก เราต้องการให้ทางหน่วยงานราชการทำงานบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการบุกรุก และผู้ใหญ่บ้านก็ยังอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม
“เราอยากเรียกร้องให้หนองสาธารณะแม่ลัวกลับคืนมาให้ลูกหลาน และอยากให้มีการจัดการกับผู้ใหญ่บ้านด้วย แต่ที่ผ่านไม่ได้รับการตอบสนอง”
อย่างไรก็ตาม นายอำเภอแม่จันติดภารกิจไม่สามารถมาพบกับชาวบ้าน แต่ได้ให้ผู้บริหารคนอื่นเข้าเจรจากับชาวบ้าน โดยให้แกนนำเข้าหารือจำนวน 4 คน แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถให้คำตอบชาวบ้านได้ว่าจะแก้ไขปัญหาให้อย่างไร จึงทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ พากันออกไปปิดประตูทางเข้าออกที่ว่าการ อ.แม่จัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินฯ-สรรพสามิต นั่งทำงานอยู่ด้วย ทำให้รถยนต์ของผู้เดินทางไปติดต่อราชการเข้าออกไม่ได้ โดยชาวบ้านระบุว่าต้องการคำตอบจากทางอำเภอ
ต่อมานายจตุพรได้เดินทางไปเจรจากับชาวบ้าน และรับปากว่าในวันที่ 24 ก.ย.นี้จะเดินทางไปร่วมทำประชาคมหมู่บ้านกรณีการปลดผู้ใหญ่บ้าน โดยจะมีผู้ถูกร้องเรียนเข้าร่วมด้วย ซึ่งทำให้ชาวบ้านพอใจและยอมเปิดทางเข้าออกเพื่อกลับไปรอฟังข่าวที่หมู่บ้านต่อไป
สำหรับเวียงหนองหล่มที่อยู่ติดกับบ้านแม่ลัวมีประวัติความเป็นมาว่าเคยเป็นอาณาจักรโบราณที่มีอายุนับ 1,000 ปีแต่ล่มสลายลงเพราะแผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน และเกิดตำนานชาวเมืองกินปลาไหลเผือกจนทำให้เมืองล่ม จึงมีชื่อว่า “เวียงหนองหล่ม” และใต้โคลนตมของหนองน้ำยังมีซากโบราณวัตถุหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากด้วย โดยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เป็นที่เลี้ยงสัตว์มาหลายชั่วอายุคน
นอกจากนี้ ชาวบ้านแม่ลัวยังได้กันพื้นที่อีกประมาณ 100 ไร่สำหรับเป็นนารวมของหมู่บ้าน แต่กลับมีกลุ่มทุนอ้างว่าได้เอกสารสิทธิถือครองที่ดินดังกล่าวแล้ว และขับไล่ชาวบ้านออกไป ทำให้ได้รับความเดือดร้อน จนพากันรวมตัวเข้าร้องเรียนต่อทางอำเภอมาแล้ว 4 ครั้ง