ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เผยกวาด 6.2 แสนบาท ในงานเปิดประมูลภาพ-ผลงานศิลปกรรมชิ้นเอกของศิลปินชื่อดัง หารายได้ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดศิลปะ ทัศนศิลป์ มรภ.โคราช ในโครงการ “บริจาคเงินเพื่อห้องสมุดศิลปะ ความรู้สู่ชุมชน ครั้งที่ 2”
วันนี้ (10 ก.ย.) ผศ.ดร.สามารถ จับโจร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการที่ทางโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดงานโครงการ “บริจาคเงินเพื่อห้องสมุดศิลปะ ความรู้สู่ชุมชน ครั้งที่ 2” โดยการเปิดประมูลผลงานศิลปกรรมเพื่อหาเงินรายได้จัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดศิลปะของโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ ที่หอศิลป์จินตนาการ อาคาร 26 โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อเร็วๆ นี้นั้น
ได้มีบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ทั้งผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทหาร และประชาชนทั่วไปที่สนใจงานศิลปะ เดินทางมาร่วมงานบริจาคเงินพร้อมร่วมประมูลผลงานศิลปกรรม และภาพวาดที่เหล่าศิลปินชื่อดัง เช่น อ.ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์, อ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์, อ.ไพโรจน์ วังบอน, อ.สมยศ ไตรเสนีย์, อ.เทิดศักดิ์ ไชยกาล, นายศักชัย อุทธิโท นายกสมาคมศิลปินอีสาน และคณาจารย์ประจำโปรแกรมทัศนศิลป์ ได้นำผลงานชิ้นเอกมาเข้าร่วมประมูลกันอย่างคึกคัก บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น และมีรายได้จากการจัดงานครั้งนี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 620,000 บาท
ทั้งนี้ ทางโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ จะนำรายได้จากการบริจาค และประมูลผลงานศิลปกรรมทั้งหมดดังกล่าวหลังจากหักค่าใช้จ่ายดำเนินการแล้ว ไปจัดซื้อหนังสือที่จำเป็น และมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนเข้าห้องสมุดศิลปะ ของโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ต่อไป ซึ่งมีเป้าหมายจัดซื้อหนังสือเข้าสมุด ประกอบด้วย หนังสือศิลปะภาคภาษาไทย 1,000 เล่ม หนังสือศิลปะภาคภาษาต่างประเทศ 1,800 เล่ม วารสารภาษาไทย 125 รายชื่อ วารสารภาษาต่างประเทศ 32 รายชื่อ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับศาสตร์เฉพาะสาขาวิชาทัศนศิลป์
อนึ่ง ห้องสมุดศิลปะ โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามพันธกิจ ดังนี้ คือ 1.รวบรวม อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในเนื้อหาและรายวิชาทัศนศิลป์ 2.สนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การวิจัย ตลอดจนรองรับการขยายตัวทางด้านวิชาการด้านทัศนศิลป์ 3.พัฒนาการ และขยายงานระบบห้องสมุด อย่างครบวงจรทั้งในส่วนของงานบริการแก่นิสิตนักศึกษา และประชาชนผู้สนใจในศาสตร์สาขาวิชาดังกล่าว และ 4.ส่งเสริมบริการและเผยแพร่ศาสตร์ทางด้านด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ผู้ที่สนใจหรือใช้บริการทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชน ให้เข้าใจซาบซึ้งกับศิลปะ และวัฒนธรรม