xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มต้านเหมืองแร่ทองคำ เผยบริษัทหมกเม็ดขอเปิดเหมืองกว่าหมื่นไร่ แต่บอกขอแจ้งไว้เพียง 300 ไร่ ไม่จริงใจต่อชาว ต.นาโป่ง ยันต้องประเมินผลกระทบเต็มพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อขยายเปิดเหมืองทอง ของบริษัททุ่งคำ จำกัด จัดขึ้นที่วัดโพนทอง  ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย
เลย - กลุ่มต้านเหมืองแร่ทองคำ รุกขอเข้าพื้นที่เวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ถูกตำรวจสกัดไว้หน้าเวทีโพนทอง เผยบริษัทส่อหมกเม็ดข้อมูล ระบุขอแจ้งพื้นที่ไว้เพียง 300 ไร่ แต่ขอประทานบัตรจริงกว่า 10,000 ไร่ ยันไม่จริงใจต่อชาว ต.นาโป่ง แนะต้องประเมินผลกระทบให้ครอบคลุมทั้งหมด

วันนี้ (8 ก.ย.) ที่วัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อขยายเหมืองทอง 10,000 ไร่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการขยายเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในโครงการเหมืองทองแร่ทองคำ ประทานบัตร 76/2539 โดยมีกำลังตำรวจ อส.กว่า 600 นายรักษาความสงบพร้อมทำรั้วเหล็กปิดกั้นเวที

การเปิดเวทีดังกล่าว มีกลุ่มรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มหินเหล็กไฟ และกลุ่มผู้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปรแตส อุดรธานี ประมาณ 1,000 คน เดินทางเข้ารับฟังความคิดเห็นดังกล่าว โดยกลุ่มรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ไม่สามารถเข้าภายในวัดสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาสิ่งแวดล้อม กับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมจึงประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการณ์บริเวณประตูวัด

โดยผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนไหวกดดันที่จะเข้าไปพื้นที่ภายในวัดให้ได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากมีตำรวจชุดปราบจลาจลเข้าแถวปิดกั้นเวทีไว้ โดยกลุ่มนักศึกษา และผู้ชุมนุมห่างจากเวทีเพียง 50 เมตร กลุ่มรักษ์บ้านเกิด กลุ่มหินเหล็กไฟ กลุ่มแร่โปรแตส ที่อยู่บริเวณด้านหน้าวัดโพนทอง ได้โจมตีการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นว่า ไม่โปร่งใส่ และหมกเม็ด ภาครัฐไม่ให้โอกาสแก่ผู้ไม่เห็นด้วย ผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มรักษ์บ้านเกิด ได้นำบทเรียนปัญหาสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ทองคำมานำเสนอแล้ว ที่สำคัญเหมืองทองคำยังไม่แก้ปัญหาให้แก่ประชาชน หากมีการขยายพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ เกรงว่าชาว ต.นาโป่ง จะถูกหลอกเหมือนกับชาว ต.เขาหลวง 6 หมู่บ้านที่กำลังประสบกับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำอยู่ขณะนี้

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่เสร็จแล้ว จึงเปิดโอกาสให้กับภาคประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุน และต่อต้านเหมืองแร่ซักถามถึงผลดีผลเสียของการการทำเหมืองแร่

นางวัชราภรณ์ วัฒนขำ กล่าวว่า เอกสารประกอบที่เผยแพร่ต่อต่อสาธารณะ มีเนื้อความหมกเม็ดไม่สอดคล้องกับป้ายเวที โดยที่ป้ายเวทีแจ้งว่าเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นคำขอประทานบัตรที่ 76/2539 แต่รายละเอียดในเอกสารประกอบโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน เนื้อความในเอกสารระบุยื่นคำขอประท่านบัตร 76/2539 ร่วมแผนผังเดียวกันกับคำขอประทานบัตรที่ 77/2539 นั่นหมายความว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีเจตนาบดบังซ่อนเร้นอำพราง และมิได้เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงต่อประชาชน ต.นาโป่ง

อีกทั้งจำนวนแปลงขอประทานบัตรที่บริษัทได้ขอไว้ที่ ต.นาโป่ง มีพื้นที่มากกว่า 10,000 ไร่ ซึ่งไม่ได้เปิดเผยข้อมูล และเสนอให้มีการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นจากการจะขอเปิดขุมเหมืองใน ต.นาโป่ง การกำหนดขอบเขตผลกระทบจากที่กล่าวไว้ว่า จะขอเพียงไม่เกิน 300 ไร่ ในแปลงขอประทานบัตรที่ 76/2539 ถือว่าเป็นการหมกเม็ดข้อมูล

กรณีโครงการเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการอาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง เป็นเวทีไม่มีความจริงใจต่อพี่น้อง ต.นาโป่ง และพี่น้องเมืองเลย หากการเริ่มต้นกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ เริ่มด้วยการหมกเม็ดข้อมูลจำนวนพื้นที่ขุมเหมืองที่แท้จริงเช่นนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาผลกระทบได้อย่างอย่างรอบด้าน

ตามความห่วงกังวลของพี่น้องประชนชนในพื้นที่ การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบเพียง 300 ไร่ ไม่พอเพียง จึงเสนอให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ประเมินผลกระทบทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ ที่ขอประทานบัตรไว้ที่ ต.นาโป่ง จึงจะครอบคลุม จากนั้นเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้จบลง ด้วยกลุ่มรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมือง แยกย้ายกันกลับ โดยไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น







กำลังโหลดความคิดเห็น