เลย - ชาวนายิ้มออก ฝนตกติดต่อหลายวันทำให้ในนามีน้ำเจิ่ง หลังฝนทิ้งช่วงนานจนไถคราดดำนาไม่ได้ ถือโอกาสเร่งเพาะกล้าปลูกข้าวแต่ใช้วิธีทำนาโยน เพราะประหยัดต้นทุนค่าแรงที่ต้องจ้างสูงถึงวันละ300-400 บาท/คน เนื่องจากแรงงานคนหายาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงนี้ในพื้นที่จังหวัดเลยมีปริมาณฝนตกประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำฝนไหลลงมาสู่พื้นที่ทางการเกษตร และยังมีเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถดำนาได้ช่วงก่อนนี้ เพราะฝนทิ้งช่วงขาดน้ำ เลยได้โอกาสเร่งทำนา โดยเลือกทำนาโยนเพื่อช่วยประหยัดค่าแรงจ้างคน ซึ่งมีค่าแรงแพง
นายพิทักษ์ พุทธมาตร เกษตรกรต้นแบบบ้านปากภู ต.เมือง อ.เมือง จ.เลย กล่าวว่า ช่วงนี้ค่าแรงในการจ้างดำนานั้นสูงถึง 300-400 บาท/วัน/คน เพราะแรงงานคนหายาก ตนเองมีความรู้ด้านการทำนา ได้เพาะกล้าไว้ก่อนหน้านี้ และเลือกที่จะใช้วิธีดำนาแบบนาโยนเพราะประหยัดเวลา และลดต้นทุนค่าแรงจ้างคนช่วยดำนา
สำหรับวิธีการทำนาโยนต้นกล้ามีรูปแบบซับซ้อนกว่าการทำนาทั่วไป เริ่มจากการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวนำไปเพาะไว้ในถาดหลุมขนาดเล็กที่ใส่ดิน แล้วใช้กระสอบป่านคลุมถาดหลุมไว้ รดน้ำประมาณ 15 วันต้นพันธุ์ข้าวจะสูงประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นจึงถอนต้นกล้านำไปโยนในแปลงนาที่เตรียมดินไว้ให้พร้อม โดยใส่ปุ๋ยชีวภาพหรืออาจปล่อยแหนแดงซึ่งทำให้ดินร่วนซุย รากต้นข้าวเจริญเติบโตดีขึ้น
วิธีโยนต้นกล้าก็ต้องโยนให้ทั่วแปลงนาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องปักดำ ทำให้ต้นกล้าไม่ช้ำหรือคอหัก ข้าวแตกกอได้ดีและรวดเร็ว เนื่องจากแปลงนามีน้ำเล็กน้อยจะได้รับออกซิเจนและสารอินทรีย์ในผิวดินที่เกิดจากการย่อยสลายของตอซังและฟางข้าว
หลังจากโยนต้นกล้าแล้ว 3 วันค่อยๆ ปล่อยน้ำเข้านา ซึ่งมีประสิทธิภาพควบคุมวัชพืชได้ดีโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ด้วยสภาพแปลงนาที่โปร่งโล่ง มีลมพัดและแสงแดดเข้าถึง ทำให้ป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้
จึงจะช่วยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10-30% และประหยัดเวลา ทันสถานการณ์กับช่วงฤดูฝนนี้ ซึ่งหลังจากนี้ฝนอาจจะทิ้งช่วงไปอีกนาน