xs
xsm
sm
md
lg

อดีต รมช.เกษตร แนะรัฐบาลแก้ปัญหายางอย่าดึงการเมืองเอี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครพนม - อดีต รมช.เกษตรวอนรัฐบาลแก้ปัญหายางพาราอย่าดึงการเมืองเข้ามาเกี่ยว แนะหารือประเทศผู้ผลิตยาง ชะลอการส่งออก แก้แบบถาวรแทนชดเชยราคา

วันนี้ (8 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครพนม ว่า ยังคงพากันเฝ้าติดตามการแก้ปัญหาราคายางของรัฐบาล ภายหลังชะลอการร่วมชุมนุม โดยนายวิชิต สมรฤทธิ์ ประธานเครือข่ายยางพารา จ.นครพนม และประธานเครือข่ายยางพาราภาคอีสาน 3 จังหวัด กล่าวว่า จ.นครพนม มีเกษตรกรปลูกกว่า 15,000 ราย พื้นที่ประมาณ 3 แสนไร่ มากเป็นอันดับ 8 ของภาคอีสาน หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขจะเดินทางไปร่วมชุมนุมกับชาวสวนยางทุกภาคทันที เนื่องจากต้องแบกภาระราคายางตกต่ำมานานเกือบ 2 ปี จนเป็นหนี้สิน

ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีต ส.ส.นครพนม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ กล่าวว่า อยากวิงวอนไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหายางพาราอย่างเร่งด่วน อย่ามองว่าเป็นปัญหาการเมือง หรือเอาเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง ตนยืนยันว่า ฝ่ายการเมืองไม่เคยคิดที่จยุยงส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยาง หรืออยู่เบื้องหลัง เพราะเป็นความเดือดร้อนอย่างแท้จริง เนื่องจากผ่านมาเกือบ 2 ปี ที่เกษตรกรต้องแบกภาระขายยางพาราในราคาต่ำ แต่ก็ทนมาได้เพราะเห็นใจรัฐบาล

แต่วันนี้เดือดร้อนอย่างหนักจึงออกมาเรียกร้อง ซึ่งถือเป็นสิทธิของเกษตรกร หากรัฐบาลไม่แก้ไขเชื่อว่าชาวสวนยางนครพนม คงจะไปร่วมชุมนุมแน่นอน ซึ่งหากไม่เดือดร้อนจริงคงไม่มีใครอยากเสียเวลาไปชุมนุมเรียกร้อง เอาเวลาไปทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัวจะดีกว่า

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลต้องมาเสียเวลาตรวจหาที่มาของการชุมนุม หรือผู้อยู่เบื้องหลังนั้นเป็นการเสียเวลา ควรเร่งหาทางออกเพราะการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือไม่ใช่ทางออกที่ดี และไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาถาวร สิ่งที่เกษตรกรที่อยากได้ คือ ราคายางที่มีมาตรฐาน เกษตรกรอยู่ได้

ซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องประมาณกิโลกรัมละ 120 บาท จึงจะคุ้ม ทางออกเดียวที่ตนเคยแก้ไขปัญหา คือ รัฐบาลควรพูดคุยกับประเทศผู้ผลิตยางพารา ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เพื่อชะลอการส่งออกยาง และหาทางแปรรูปเก็บในสต๊อก เมื่อตลาดยางพาราโลกไม่มียางจะทำให้มีการซื้อในราคาสูงขึ้น เชื่อว่าเป็นทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ แต่รัฐบาลจะต้องทำอย่างจริงจังทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำงาน และจะต้องมีการพูดคุยระดับประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น