ศรีสะเกษ - เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จ.ศรีสะเกษ ประชุมแกนนำ 2 อำเภอ 6 ตำบลแหล่งปลูกยาง ยืนยันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางพาราแทนจ่ายชดเชยสนับสนุนปัจจัยการผลิต เผยพร้อมชุมนุมใหญ่ตามมติเครือข่ายชาวยางพาราภาคอีสาน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (1 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณที่ทำการสหกรณ์การเกษตรยางพาราบ้านซำเบ็ง ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้มีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในเขต อ.กันทรลักษ์ และ อ.ขุนหาญ จำนวน 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.หนองหญ้าลาด ต.กระแชง ของ อ.กันทรลักษ์ และ ต.พราน ต.บักดอง ต.สิ และ ต.กันทรอม ของ อ.ขุนหาญ ประมาณ 60 คน นำโดยนายสุนทร พวงมาลี ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อ.กันทรลักษ์ มาประชุมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และกำลังมีการชุมนุมประท้วงชาวสวนยางพาราอยู่ในขณะนี้
โดยมีนายเมตต์ แสงจันทร์ ปลัดอาวุโสอำเภอกันทรลักษ์ และนายหมุน แซ่จึง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ เข้าร่วมประชุมด้วย
นายสุนทร พวงมาลี ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อ.กันทรลักษ์ กล่าวภายหลังจากการประชุมว่า การประชุมของกลุ่มแกนนำผู้ปลูกยางพาราในเขต อ.กันทรลักษ์ และ อ.ขุนหาญ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดของ จ.ศรีสะเกษ ในครั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่กำลังตกต่ำ ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าต้องการให้รัฐบาลประกันราคายางพาราตามข้อเรียกร้องเดิม ไม่อยากให้จ่ายเงินชดเชยการปลูกยางพารา (สนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท) เพราะหากจ่ายเงินชดเชยมาเงินก็หมดไป ไม่เหมือนกับการประกันราคาที่เมื่อซื้อยางพารามาแล้วก็หมุนเวียนไปขายทำให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบ แม้อาจจะมีการขาดทุนไปบ้างแต่ก็ยังมีเงินอยู่ไม่สูญเปล่าไปไหน ไม่เหมือนกับการจ่ายชดเชย
ส่วนที่มีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ของเครือข่ายชาวสวนยางพาราภาคอีสานในวันที่ 3 ก.ย.ที่บริเวณสะพานทางแยกต่างระดับสีคิ้ว ถ.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นั้น ขณะนี้กำลังรอฟังมติจากที่ประชุมใหญ่ของเครือข่ายชาวสวนยางพาราภาคอีสานว่าจะมีการชุมนุมเมื่อไร โดยจะต้องรอเวลาภายใน 15 วันที่ให้เวลารัฐบาลในการแก้ไขปัญหา หากผลการแก้ไขปัญหายังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา พวกเราก็พร้อมจะเคลื่อนขบวนไปร่วมชุมนุมใหญ่ทันที
นายเมตต์ แสงจันทร์ ปลัดอาวุโสอำกันทรลักษ์ กล่าวว่า การประชุมของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ยอมรับตามข้อเสนอของรัฐบาลที่จะลดต้นทุนการผลิตยางพารา โดยจะมอบเงินเป็นค่าชดเชยสนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท ในรอบแรกรายละ 10 ไร่ และจะขยายให้ 25 ไร่ตามลำดับต่อไป โดยในวันอังคารที่ 3 ก.ย.นี้จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะโอนเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เกษตรกรโดยตรง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรที่มาประชุมในวันนี้ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางพารามากกว่าการจ่ายชดเชย ซึ่งตนจะได้นำเรื่องนี้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณาต่อไป