อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เตือนเกษตรกรและผู้สัมผัสน้ำในฤดูฝนระวังอาจเจ็บป่วยด้วยโรคฉี่หนู พบทั้งประเทศตั้งแต่มกราคมถึงสิงหาคมตายแล้ว 13 ราย เฉพาะภาคอีสานป่วย 900 ราย ตาย 7 ราย หากมีไข้ฉับพลัน ปวดบริเวณน่องขาสันนิษฐานอาจป่วยเป็นไข้ฉี่หนู
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนมีโรคระบาดที่น่าห่วงคือ โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือเกษตรกรที่มีอาชีพทำไร่ ทำนา มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคสูงกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากต้องสัมผัสน้ำขังเป็นเวลานาน
สำหรับเชื้อโรคฉี่หนูเกิดจากการปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย ที่เป็นพาหะนำโรคปัสสาวะลงในแหล่งน้ำขัง และเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือ จากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค และเชื้อสามารถไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปาก หรือตา หรือเข้าทางรอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ
หลังติดเชื้อประมาณ 7-10 วันจะเริ่มมีอาการคือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องขาทั้งสองข้าง หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
นายแพทย์ศรายุธระบุอีกว่า จากรายงานของสำนักระบาดวิทยาพบการระบาดโรคฉี่หนูในปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 11 สิงหาคมนี้ ทั่วประเทศมีผู้ป่วย 1,459 ราย เสียชีวิต 13 ราย พบผู้ป่วยมากสุดที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 835 ราย เสียชีวิต 7 ราย โดยในพื้นที่ 7 จังหวัดของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี มีผู้ป่วยโรคนี้แล้ว 220 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
พบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดศรีสะเกษ 104 ราย รองลงมาคือจังหวัดอุบลราชธานี 45 ราย จังหวัดยโสธร 38 ราย อีก 33 รายกระจายอยู่ใน 4 จังหวัดที่เหลือ จึงกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ร่วมเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องไปถึงต้นฤดูหนาว พร้อมเร่งให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชนเพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต
สำหรับโรคฉี่หนู ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันได้ โดยเมื่อต้องเดินลุยน้ำ ย่ำโคลนต้องใส่รองเท้าบูต และให้รีบชำระล้างทำความสะอาดร่างกายหลังขึ้นจากน้ำ กำจัดขยะโดยเฉพาะขยะเปียกในบ้าน เช่น เศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารที่ค้างคืนให้มิดชิด ล้างผักสดที่เก็บจากท้องไร่ท้องนาให้สะอาดก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ หากมีอาการป่วยมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยตามร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องขา ให้สงสัยไว้ก่อนอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลนให้แพทย์ทราบเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง