ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สาธารณสุขเชียงใหม่เตรียมจัด Big Cleaning Day แคมป์คนงานข้ามชาติใน 7 อำเภอ พร้อมส่งทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เดินหน้าควบคุมโรค หลังพบสถิติไข้เลือดออกระบาดหนักในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รองนายแพทย์ สสจ.ชี้ที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ แถมแรงงานขาดความรู้เรื่องโรค การรักษา ตะลึงพบมีคนป่วยไข้เลือดออกทุกที่ ซ้ำเข้าใจว่าแค่เป็นไข้เลยหาซื้อยากินเอง
วันนี้ (20 ส.ค.) ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าวมาตรการ และแนวทางการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ภายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การแถลงข่าวในครั้งนี้สืบเนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเตรียมที่จะดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ในระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค.นี้เพื่อค้นหาผู้ป่วย และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในเขตที่อยู่อาศัยของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่พบว่าในสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตถึง 2 ราย จากจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกทั้ง 6 รายในรอบปีนี้ของจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. จากจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด 9,654 ราย มีผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติรวม 666 ราย ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวทำให้ นายเจริญฤทธ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้ ดร.ทพ.สุรสิงห์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เร่งดำเนินมาตรการ และแนวทางการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกรงว่าหากไม่มีการควบคุมอย่างถูกต้องจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
ดร.ทพ.สุรสิงห์กล่าวว่า จากการตรวจสอบในแหล่งที่อยู่อาศัย หรือแคมป์ของแรงงานต่างด้าวทั้งในอำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง พบว่ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก รวมทั้งพบผู้ป่วยไข้เลือดออกในทุกแห่ง ขณะเดียวกันยังพบว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรค การป้องกันและการรักษา โดยผู้ป่วยส่วนมากเข้าใจว่าตนเองป่วยเป็นไข้โดยไม่รู้ว่าเป็นอาการของโรคไข้เลือดออก ทำให้เลือกที่จะซื้อยามารับประทานเองมากกว่าที่จะไปพบแพทย์ ซึ่งการไม่ทราบอาการของโรคทำให้หลายรายเมื่ออาการไข้ทุเลาลงในช่วงแรกก็กลับไปทำงานทันทีเนื่องจากคิดว่าหายป่วยแล้ว โดยไม่รู้ว่าโรคไข้เลือดออกยังมีอาการในระยะต่อมาหลังจากที่ไข้ลดลงในช่วงแรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้อาการหนักมากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จึงจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ขึ้น ในระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค.ใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสารภี อำเภอแม่รม อำเภอสันกำแพง อำเภอหางดง และอำเภอสันทราย โดยให้แต่ละอำเภอจัดทีมปฏิบัติงานซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม. อาสาสมัคร หรือตัวแทนคนงานในแคมป์ และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยควบคุมโรคนำโดยแมลง ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อลงพื้นที่แคมป์ หรือที่พักอาศัยของกลุ่มแรงงานข้ามชาติเพื่อดำเนินการควบคุม และป้องกันโรค
ดร.ทพ.สุรสิงห์กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการควบุคุมและป้องกันโรคที่จะดำเนินการในครั้งนี้นั้น ประกอบด้วย 1. การค้นหาผู้ป่วย ซึ่งจะให้อาสาสมัครต่างด้าวออกให้ความรู้ และแจกเอกสารแผ่นพับแก่แรงงานข้ามชาติ โดยเน้นที่การสังเกตอาการต่างๆ ที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งจ่ายยาทากันยุงให้ผู้ป่วยใช้ทาตลอด 7 วัน และจ่ายสเปรย์กระป๋องสำหรับพ่นอบในพื้นที่พักอย่างน้อย 3 วัน 2. การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และน้ำขัง ทั้งการสำรวจ และทำลาย ใส่ทราย หรือผงซักฟอกลงในแหล่งน้ำ หรือการสูบน้ำออก รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณ
3. การจัดการตัวแก่ โดยประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้เครื่องพ่น ULV เพื่อพ่นในที่พัก และโดยรอบ รวมถึงการจัดหาสเปรย์กระป๋องสำหรับฉีดพ่นในที่พักก่อนออกไปทำงาน และ 4. มาตรการอื่นๆ ได้แก่ การแจ้งข่าวการป่วยไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่เพื่อความรวดเร็วในการควบคุมโรค การให้ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก รวมถึงการดูแล และสังเกตอาการของตนเองเมื่อสงสัยว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าในแคมป์ของแรงงานข้ามชาติแทบทุกแห่งมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และเกือบทั้งหมดไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก หรือการรักษาตัวที่ถูกต้องซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกมาก ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการป้องกัน และควบคุมอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นพาหะที่ทำให้การแพร่ระบาดของโรคในจังหวัดเชียงใหม่รุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่