เชียงใหม่/น่าน - น้ำป่าทะลักท่วม “ฝาง-ไชยปราการ” ขณะที่เมืองน่านต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม หลังมีฝนตกสะสมส่งผลให้ดินบนภูเขาอิ่มน้ำ และสไลด์ตัวหลายแห่ง
วันนี้ (9 ส.ค.) ได้เกิดน้ำป่าไหลเข้าท่วมหลายท้องที่ในเขต อ.ไชยปราการ รวมถึงตัวอำเภอฝาง และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะถนนเชียงใหม่-ฝางก็ถูกกระแสน้ำทะลักเข้าท่วมจนต้องปิดการจราจร เนื่องจากบางจุดน้ำลึกกว่า 50 ซม. ล่าสุดหลายหน่วยงานกำลังระดมเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นายคมสัน สุวรรณอัมพา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อิทธิพลพายุมังคุดที่ทำให้จังหวัดเชียงรายได้ผลกระทบนั้น ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่อาย และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ตะเข็บรอยต่อกับจังหวัดเชียงรายก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะอำเภอไชยปราการมีปริมาณฝนตกสะสม 110 มิลลิเมตร ทำให้น้ำป่าไหลหลากจากบนดอยเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มในตัวอำเภอ เช่น ถนนหน้าที่ว่าการอำเภอไชยปราการปริมาณน้ำท่วมสูง 20 ซม. และบริเวณหน้าโรงพยาบาลไชยปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีปริมาณน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม. รถยนต์เล็กและจักรยานยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ในช่วงเช้า แต่ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว
เบื้องต้นไม่ได้รับรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากได้มีการเตรียมการ แจ้งเตือน และอพยพคนได้ทันท่วงที แต่พื้นที่ต้องเฝ้าระวังต่อไปคืออำเภอแม่อาย และอำเภอฝาง โดยเฉพาะพื้นที่บนดอย หรือภูเขาสูงที่เสี่ยงอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากจนส่งผลอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ส่วนที่จังหวัดน่าน ล่าสุดนายชุมพร แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้สั่งเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม หลังพื้นที่จังหวัดน่านได้รับอิทธิพลจากพายุ และมีฝนตกสะสม จนส่งผลให้ดินบนภูเขานั้นอิ่มน้ำสไลด์ตัวลงมาหลายแห่ง พร้อมกับก้อนหิน, ซากไม้ล้มลง โดยเฉพาะเขตอำเภอบ่อเกลือ, สองแคว, บ้านหลวง และเฉลิมพระเกียรติ ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเขาลาดชันและป่าถูกทำลายไปมาก
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะป้องกันและบรรเทาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดระบบข่าวพยากรณ์ จัดระบบแจ้งเตือนภัยผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จัดเตรียมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งข่ายหลัก และข่ายสำรอง ยานพาหนะ เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไว้ให้พร้อมรับสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
พร้อมกันนั้นยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รายงานข้อมูลและสถานการณ์ พร้อมการประกาศแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบทันทีหากเกิดเหตุน้ำป่าหลากหรือดินโคลนถล่ม พร้อมกับเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์
ทั้งนี้ จังหวัดน่านมีพื้นที่เสี่ยงภัยกระจายในทุก 15 อำเภอ รวม 403 หมู่บ้าน แบ่งระดับความรุนแรงอุทกภัย ดินโคลนถล่ม ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 รุนแรง จำนวน 206 หมู่บ้าน ระดับ 2 ปานกลาง จำนวน 140 หมู่บ้าน และระดับ 3 ต่ำ จำนวน 57 หมู่บ้าน
สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนสไลด์ซ้ำซาก ได้แก่ ถนนสาย อ.ปัว-อ.บ่อเกลือ ทางไปอุทยานดอยภูคา ที่มักจะเกิดดินถล่มปิดถนน นอกจากนั้นยังมีพื้นที่บ้านกอก-บ้านจูน อ.เชียงกลาง, บ้านน้ำพิ-น้ำเพาะ อ.ทุ่งช้าง, ถนน อ.ทุ่งช้าง-อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่มักจะมีดินสไลด์ถล่มลงมาปิดถนนหลายจุด, ถนนสาย อ.นาหมื่น-ปิงหลวง บริเวณบ้านห้วยเย็น อ.นาหมื่น ซึ่งประชาชนที่สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวควรระมัดระวัง