xs
xsm
sm
md
lg

กระแสต้าน “ปลอด” ฮุบสวนสัตว์เชียงใหม่เริ่มแรง ชี้ซ่อนเป้ารวบงบฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - กระแสต้านแนวคิด “ปลอดประสพ” ดึง “สวนสัตว์เชียงใหม่ ในพระบรมราชูปถัมภ์” เข้าสังกัด “สำนักงานพัฒนาพิงคนคร” เริ่มแรง ชี้ซ่อนเป้าหมายรวบงบประมาณ ยึด “แพนด้า” อุ้มไนท์ซาฟารี-ศูนย์ประชุมฯ

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า หลังนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 56 ที่ผ่านมา ให้ดำเนินการโอนสวนสัตว์จังหวัดเชียงใหม่มาสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร โดยรวมกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ โดยอ้างวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชนชาวเชียงใหม่

พร้อมกับให้บอร์ดองค์การสวนสัตว์ไปประชุมดำเนินการ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการบริหารพัฒนาพิงคนคร ที่มีนายโชติ ตราชู ปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธานก็จะจัดประชุมด้วยเช่นกัน ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามขั้นตอนกฎหมายในเดือนสิงหาคม 56 นี้

ล่าสุดประเด็นดังกล่าวกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าจะเป็นการตบแต่งตัวเลขเข้ามาอุ้มเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ที่สำคัญการโอนเข้ามาสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เป้าหมายหลักจริงๆ เพราะต้องการงบประมาณในแต่ละปีเท่านั้น
 
นายสวรรค์ แคว้นไธสงค์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ เสนอความเห็นในเฟซบุ๊กว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเชียงใหม่กำลังจะประชุมในเรื่องนี้เช่นกัน และต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการนำสวนสัตว์เชียงใหม่ไปอยู่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เพราะดูวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.การจัดตั้งสำนักงานพิงคนคร และ พ.ร.บ.จัดตั้งองค์การสวนสัตว์ ก็แตกต่างกันลิบลับ

กล่าวคือ การจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497 มีวัตถุประสงค์ คือ 1. จัดดำเนินการ ส่งเสริม รวบรวมสัตว์ทุกชนิดไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และอำนวยบริการประชาชน 2. ส่งเสริมและจัดให้มีการบำรุงและผสมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ไว้เพื่อมิให้สูญพันธุ์ 3. จัดการดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่เลี้ยงสัตว์ขององค์การ 4. จัดบริการสาธารณะเพื่อให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชนโดยแท้จริง เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว แล้วให้องค์การมีอำนาจ รวมถึงสร้างซื้อ จัดหา จำหน่าย ยืม และให้ยืม เช่า ให้เช่า ให้เช่าชื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง ทำการแลกเปลี่ยน โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิทั้งในและนอกประเทศ เป็นต้น

ส่วนการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดเชียงใหม่ หรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยว กับยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

“พิงคนครเน้นท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ไม่พูดถึงแหล่งศึกษา บำรุงพันธุ์สัตว์ และบริการประชาชน”

ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2497 ก่อตั้งมานานกว่า 75 ปี สวนสัตว์เชียงใหม่ดำเนินกิจกรรมมาได้ 37 ปี นับเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ไปแล้ว ขณะเดียวกันหากจะรวมแหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่เข้ามาสังกัดสำนักพิงคนคร จึงมีคำถามต่อไปอีกว่า ทำไมไม่รวมอุทยานราชพฤกษ์ หรือสวนสมเด็จ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 55 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอเห็นควรให้ควบรวมโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเข้ากับองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นองค์การในลักษณะเดียวกัน โดยเสนอให้ยังคงสถานะเป็นหน่วยธุรกิจดังเช่นในปัจจุบัน

แต่ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พร้อมตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะไม่เห็นด้วยที่จะนำเอาเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไปรวมกับสวนสัตว์ฯ

ด้านนายนิคม พุทรา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย กล่าวว่า สวนสัตว์เชียงใหม่ ขึ้นต่อองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อการศึกษาหาความรู้ และเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ ผิดกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่มุ่งเน้นในเรื่องของการค้า นำสัตว์มาออกมาจัดแสดง เพื่อให้เที่ยวชมในรูปแบบการค้า หรือ Animal Show โดยนำสัตว์ป่ามาค้าเพื่อการท่องเที่ยว

โดยส่วนตัวแล้วตนเองไม่เห็นด้วยเพราะแนวทางของทั้งสองแห่งขัดแย้งกัน หากจะมีการควบรวม ปัจจุบันการนำสัตว์ป่ามากักขังเพื่อการค้า อาจมีการเข้าชมจากนักท่องเที่ยวเพราะหาชมได้ยาก แต่ตอนนี้สามารถที่จะไปชมสัตว์ป่าจริงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือในป่าเลย เพราะค่านิยมที่เปลี่ยนไป

“ระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมาก และทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีพยายามหาจุดขายใหม่ๆ นำสัตว์ป่าใหม่ แปลกๆ มาจัดแสดงเพื่อหาจุดขาย และอยากได้หมีแพนด้าไฮไลต์เด่นของสวนสัตว์เชียงใหม่ไปจัดแสดง แต่ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ไม่ให้ไป พยายามที่จะจัดโปรโมชันต่างๆ ทั้งลด แลก แจก แถม เพื่อให้มีคนมาท่องเที่ยวแต่อาจยังไม่เป็นผล”

ขณะที่ทางสวนสัตว์เชียงใหม่เปิดให้นักเรียนนักศึกษา เยาวชนเข้าศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัตว์นานาชนิด แต่หากมีการควบรวมแล้วก็จะมีการเปลี่ยนเพื่อการค้าแทน ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นคนยากจน หรือนักเรียนที่ยากไร้ ไม่ให้มีโอกาสได้ชมสัตว์ป่าได้ เพราะเปลี่ยนเป็นรูปแบบการค้าสัตว์แทน

“นอกจากนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารียังค้าสัตว์ป่าให้ชมตลอดทั้งวันทั้งคืน ถือเป็นการละเมิดสิทธิของสัตว์ป่า โดยทั่วโลกก็พยายามอนุรักษ์พันธุ์ป่าต่างๆ ไว้ให้ชมในถิ่นของตัวเอง”

กำลังโหลดความคิดเห็น