ระยอง - พบคราบน้ำมันบางส่วนกำลังลอยเข้าฝั่งเกาะเสม็ดด้านทิศตะวันตก บริเวณอ่าวพร้าว ห่างจากเกาะประมาณ 1 กม. คาดจะเข้าถึงหาดอ่าวพร้าวเวลา 18.00 น. วันเดียวกัน นักวิชาการชี้คราบน้ำมันที่ใช้น้ำยาเคมีสลายเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่นอน
เวลา 15.00 น. วันนี้ (28 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1 พบว่าคราบน้ำมันจากกรณีที่เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว รั่วบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ขณะกำลังมีการส่งน้ำมันมายังโรงกลั่นน้ำมัน เมื่อเวลา 06.50 น. วานนี้ (27 ก.ค.) จนทำให้มีน้ำมันดิบรั่วออกมาประมาณ 50,000 ลิตร ขณะนี้มีบางส่วนกำลังลอยเข้าฝั่งเกาะเสม็ดหมู่ 4 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ด้านทิศตะวันตกบริเวณอ่าวพร้าว ห่างจากเกาะประมาณ 1 กิโลเมตร คาดว่าคราบน้ำมันจะเข้าถึงหาดทรายอ่าวพร้าว เวลา 18.00 น. ของวันนี้
โดยจากการติดตามของเจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบคราบน้ำมันมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร กระจายเป็นกลุ่มมีลักษณะคราบน้ำมันสีดำ มีความหนืดเป็นแผ่นหนา ขณะเดียวกัน การติดตามกลุ่มคราบน้ำมันของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด และหน่วยงานี่เกี่ยวข้องรวม 9 ลำ ก็ได้เร่งช่วยกันติดตาม และกำจัดคราบน้ำมัน โดยการฉีดน้ำยาสลายคราบน้ำมันตลอดทั้งวัน
ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก โดยนางรัตนา มั่นประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ กล่าวว่า ทางศูนย์ได้นำเรือออกไปเก็บคุณภาพน้ำทะเล และสังเกตคุณภาพของสัตว์น้ำ แต่ยังไม่พบสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบ หรือลอยตาย พร้อมทั้งประสานชาวประมงพื้นบ้านตลอดแนวชายฝั่ง จ.ระยอง ให้ช่วยกันเฝ้าสังเกตการณ์ทั้งในเรื่องของคราบน้ำมัน และสัตว์น้ำที่จะได้รับผลกระทบบริเวณชายฝั่ง และแหล่งประมง
นางรัตนา เผยอีกว่า เกี่ยวกับกรณีการใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมันให้แตกเป็นเม็ดเล็กจมลงทะเล กลายเป็นอาหารสัตว์ทะเลนั้น ทางศูนย์วิจัยยังไม่ทราบรายละเอียดของน้ำยาที่ใช้สลายคราบน้ำมัน แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นอาหารสัตว์น้ำ เพราะเป็นน้ำยาเคมี ซึ่งอาจทำให้เกิดการจับตัวของคราบน้ำมันแล้วตกตะกอนจมลงสู่ก้นทะเล ไปจับกับสิ่งที่มีชีวิตที่เกาะติดอยู่กับที่ เช่นปะการัง หอย ซึ่งจะต้องเกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ต้องดูข้อมูลเรื่องน้ำยาเคมีที่ใช้ก่อนว่าเป็นตัวไหน และมีคุณสมบัติอย่างไร ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้เต็มที่ แต่ถ้าจะให้ไปเป็นอาหารปลาคงไม่ไช่แน่นอน