xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่จัดเสวนานำร่อง “เชียงใหม่-ลำพูน” มรดกโลก นักวิชาการแนะต้องเตรียมพร้อมหลายด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่จัดเสวนานำร่อง หวังหาแนวทางผลักดัน “เชียงใหม่-ลำพูน” สู่การเป็นมรดกโลก ด้านนักวิชาการชี้มีองค์ประกอบหลายอย่าง ผู้แทนจากยูเนสโกแจงคุณสมบัติต้องเหมาะสม-ประชาชนต้องสนับสนุน ส่วนนักวิชาการจากซีมีโอชี้แค่เป็นมรดกโลกได้ยังไม่พอ ต้องทั้งศึกษาวิจัยและเตรียมการดูแลรักษา ด้านนักวิชาการจากหลวงพระบางแนะต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งบวก และลบ

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะกรรมการโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาลำพูนสู่มรดกโลก ได้จัดการประชุมสัมมนาการนำร่องเชียงใหม่สู่มรดกโลกขึ้น โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์พงศ์เดช ไชยคุตร คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมในพิธีเปิดงาน

การจัดการสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชุมสัมมนาสืบสานและผลักดันเมืองเชียงใหม่-ลำพูนสู่มรดกโลก ภายใต้โครงการ A Tale of Two Cities (ตำนานสองนคร เชียงใหม่-ลำพูน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันให้เมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูนสู่การเป็นมรดกโลก รวมทั้งยังถือโอกาสที่นายอนันต์ ลี้ตระกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญตัวแทนจากกรมศิลปากรและองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านมรดกโลกโดยตรงมายังจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนในระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดสัมมนาในลักษณะเดียวกัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยการเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางสู่มรดกโลก” คณะวิทยากรได้นำเสนอถึงกระบวนการของยูเนสโกในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งแนวทางการพิจารณา ขั้นตอนการดำเนินการ รวมไปถึงประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับ โดย ดร.ณรงค์ศักดิ์ บุณยมาลิก รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ปารีส กล่าวว่า การจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งการจัดทำบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) การจัดทำแฟ้มข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อทำการตรวจสอบและประเมินคุณค่า ก่อนจะพิจารณาว่าจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่

ขณะเดียวกัน สถานที่ที่นำเสนอนั้นจะต้องสอดคล้องกับแนวคิดของการเป็นมรดกโลก กล่าวคือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล ซึ่งการที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนจะเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นจำเป็นจะต้องพิจารณาว่าจะนำเสนอพื้นที่หรือสถานที่ใดที่เห็นว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว นอกจากนี้ การจะเป็นมรดกโลกได้นั้นยังต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนหรือในพื้นที่ เพราะเคยมีตัวอย่างในหลายประเทศมาแล้วที่ได้เสนอสถานที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่ไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าคนในท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนร่วมหรือให้การสนับสนุน

ขณะที่ ดร.หม่อมราชวงศ์ รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคิดในการผลักดันให้เชียงใหม่และลำพูนเป็นมรดกโลกคือจะเสนออะไรเป็นมรดกโลก และจะเป็นมรดกโลกไปเพื่ออะไร เพราะการเสนอสถานที่เป็นมรดกโลกนั้นสิ่งที่ต้องเข้าใจคือวัตถุประสงค์ของโครงการมรดกโลกและความสำคัญของการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จะคิดเอาเองว่าเรามีของดีแล้วคนอื่นจะเห็นด้วยไม่ได้

ขณะเดียวกัน ในขอบเขตการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกนั้นมีหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะโบราณสถานหรือพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมักจะเสนอแต่โบราณสถานหรือพื้นที่ป่าเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีของเชียงใหม่-ลำพูนอาจจะต้องลองคิดนอกกรอบดูว่าจะนำเสนออะไรได้บ้าง

ดร.หม่อมราชวงศ์ รุจยากล่าวต่อไปว่า หลายฝ่ายมักกล่าวว่าการเป็นมรดกโลกนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ไว้เพื่อลูกหลานแล้ว ยังจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการท่องเที่ยวด้วย แต่ก่อนที่จะเป็นมรดกโลกได้นั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของรัฐบาล อีกทั้งต้องทำการศึกษาวิจัยตามหลักสากลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะเสนออย่างละเอียดซึ่งถือเป็นงานใหญ่

นอกจากนี้ เมื่อได้เป็นมรดกโลกแล้วก็ยังต้องทำการบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้คงสภาพเดิม ซึ่งการดูแลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานหนักที่สิ้นเปลืองในหลายๆ ด้าน ดังนั้นการเสนอแนวคิดเรื่องการเป็นมรดกโลกนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกฝ่ายต้องรับรู้ร่วมกันด้วยว่ากระบวนการให้ได้มาซึ่งการเป็นมรดกโลกและการรักษามรดกโลกไว้นั้นเป็นงานที่ยากเช่นกัน หากสนใจแค่ว่าทำอย่างไรให้ได้เป็นก็อาจประสบปัญหาเหมือนกับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ขาดการเอาใจใส่ดูแล จนกระทั่งมีข่าวว่าจะถูกถอดจากการเป็นมรดกโลกมาแล้ว

ด้านท้าวสมอก พันทะวง รองผู้อำนวยการสำนักแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว กล่าวว่า เมืองหลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ซึ่งตลอด 18 ปีที่เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกนั้นได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเมืองในหลายๆ ด้านทั้งในด้านบวกและลบ จากเดิมในปี 1995 ที่ประชากรในหลวงพระบางมีรายได้เฉลี่ยเพียงแค่ 100 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ในปัจจุบันรายได้ของประชาชนได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 เหรียญสหรัฐต่อปี รวมทั้งยังทำให้หลวงพระบางกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และได้รับการยกย่องจากหลายฝ่ายว่าเป็นเมืองที่น่ามาท่องเที่ยว

แต่ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะการรับเอาอารยธรรมแบบตะวันตกเข้ามาในวิถีชีวิตตามความเจริญที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประเพณีวัฒนธรรมที่เคยสืบทอดกันมาเริ่มถูกละเลย ซึ่งถือเป็นผลกระทบในแง่ลบที่มาพร้อมกับความเจริญที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากเชียงใหม่และลำพูนคิดถึงการเป็นมรดกโลกก็ควรจะมีการเตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาเอาไว้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น