xs
xsm
sm
md
lg

สรุปผลเวที “ทางออกประเทศไทย” เชียงใหม่ ชง 12 ปัญหา 465 ทางแก้เสนอรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐม ปฐมธนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สรุปเวทีเสวนาหาทางออกประเทศไทยเชียงใหม่ 2 ครั้งได้ข้อสรุป 12 ปัญหา กับอีก 465 แนวทางแก้ พบ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” มากสุด เตรียมชงข้อมูลเสนอรัฐบาล ชี้แม้ไม่รู้จะปฏิบัติได้แค่ไหนแต่ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนแลกเปลี่ยน ถือว่าเดินถูกทาง

วันนี้ (9 ก.ค.) ผศ.ปฐม ปฐมธนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงผลการจัดเวทีหาทางออกประเทศไทย ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 16 และ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่าทั้ง 2 ครั้งมีประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมกว่า 2,000 คน โดยสรุปประเด็นที่พบว่าเป็นปัญหารวม 12 ประเด็น ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 2. ความขัดแย้งของคนในชาติ 3. นักการเมืองสร้างปัญหาและแสวงหาผลประโยชน์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม 4. ความเคลือบแคลงในระบบนิติธรรม 5. ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 6. การขาดความเป็นกลางและการแทรกแซงขององค์กรอิสระ

7. ความไม่เป็นกลางของสื่อ 8. การกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง 9. การรวมศูนย์อำนาจที่มากเกินไป 10. ความเข้าใจประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน 11. ปัญหาเรื่องการรัฐประหาร และ 12. ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ

ผศ.ปฐมกล่าวว่า การจัดเวทีกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 รวม 5 เวที โดยเชียงใหม่จัด 2 ครั้ง ซึ่งบรรยากาศดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อยและเป็นมิตร แต่ละฝ่ายต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา โดยไม่มีความขัดแย้งหรือการกระทบกระทั่งแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน เวทีเสวนาของเชียงใหม่ทั้ง 2 ครั้งนำเสนอแนวทางการแก้ไขรวม 465 แนวทาง ประเด็นที่มีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหามากที่สุด ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมข้อมูลส่งให้คณะของ รศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สรุปผลร่วมกับ 108 เวทีทั่วประเทศ ก่อนเสนอรัฐบาลต่อไป

ผศ.ปฐ กล่าวว่า ยอมรับว่าการเสวนาอาจยังขาดตัวแทนจากกลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งกันโดยตรง เช่น กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมือง หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาร่วมในเวทีเสวนา ซึ่งอาจทำให้บางฝ่ายเห็นว่าผลสรุปที่ได้อาจจะยังไม่ใช่ผลสรุปจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง แต่การที่ต้องใช้วิธีคัดเลือกตัวแทนมาร่วมเวทีนั้น เนื่องจากหากเปิดให้เข้าร่วมโดยไม่จำกัดจำนวนจะส่งผลต่อการเสวนาที่อาจไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ อีกทั้งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า และเกิดความขัดแย้งบานปลายขึ้นได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการเสวนาคงไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง จากนี้ไปถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) สถาบันพระปกเกล้า และรัฐสภา ที่จะนำประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขไปใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น