xs
xsm
sm
md
lg

อพท.จัดเสวนาพัทยายับเยินหรือยั่งยืน พร้อมลงนาม MOU ขับเคลื่อนแผนแม่บท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - อพท.เปิดเวทีเสวนา “พัทยายับเยินหรือยั่งยืน” พร้อมลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนแผนแม่บทสู่การพัฒนา ด้านนักวิชาการอิสระ ระบุการท่องเที่ยวจะยั่งยืนต้องร่วมภาคประชาชน มีความเสมอภาค เปิดโอกาสให้กำหนดชะตาชีวิตตนเอง เน้นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มุ่งแต่ด้านเศรษฐกิจ

วันนี้ (1 ก.ค.) ที่โรงแรมอมารี ออคิด พัทยา จ.ชลบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้จัดการพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจราจร นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ต.อ.สุวิชาญ ญาณกิตติกุล รองผบก.ภ.จว.ชลบุรี และ ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดเวทีเสวนาเครือข่ายพัทยา “พัทยา ยับเยินหรือยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท. มีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เชื่อมโยงทั้ง 9 แห่ง รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน เข้าร่วมจำนวนมาก

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ มีการพูดคุยปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศแนวเขตพื้นที่พิเศษ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 โดยพิจารณาอนุมัติ 76 โครงการ งบประมาณ 9,229 ล้านบาท ซึ่งมีแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

ดร.สมนึก กล่าวว่า เมืองพัทยามีความเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสูง แต่การพัฒนาเน้นไปทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จึงควรให้ความสำคัญเรื่องสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะเรื่องสังคม จำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง เพื่อให้เกิดความหวงแหน รู้สึกมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยรัฐเองต้องเน้นความเสมอภาค

ขณะที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย เห็นได้จากจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาก็มีตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะขยะ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเค้าความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณขยะกับพื้นที่รองรับไม่สมดุลกัน ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ รวมทั้งน้ำเน่าเสียที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง ส่วนน้ำอุปโภคบริโภคที่บอกว่าเพียงพอ แท้ที่จริงแล้วถือว่าขาดแคลน ดังนั้น หากไม่เตรียมความพร้อมรองรับอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือมีนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแล้ว การเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจส่งผลกระทบ และไม่ยั่งยืนได้

ด้าน ดร.สุวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาการจราจรก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากปริมาณถนนไม่สอดคล้องกับผู้ใช้รถ ซึ่งตามมาตรฐานเมืองท่องเที่ยว จะต้องมีถนนเฉลี่ยอยู่ที่ 15% ของพื้นที่โดยรวม ขณะที่เมืองพัทยามีถนนอยู่เพียง 3.5% จึงเป็นเรื่องยากในการแก้ไข สิ่งที่ต้องทำคือ เพิ่มปริมาณถนน และจัดสร้างเส้นทางมาตรฐานใหม่เพื่อระบายรถที่หนาแน่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถที่ใช้เมืองพัทยาเป็นทางผ่านเท่านั้น

ดังนั้น จึงควรจัดทำถนนเลี่ยงเมือง เหมือนเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ขณะที่ภายในก็ต้องแก้เรื่องจอดรถ ระบบขนส่งมวลชน และเพิ่มถนนให้มากขึ้น ส่วนการจัดทำอุโมงค์ลอดทางแยกตามแผนนั้นยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณ ทำลายสภาพแวดล้อม ที่สำคัญเพื่อระบายการจราจร และยังจะเป็นการดึงรถเข้ามาจนทำให้การจราจรคับคั่งมากกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

ขณะที่นายอิทธิพล กล่าวว่า เมืองพัทยาเติบโตขึ้นทุกปี จึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 9 แห่ง และ อพท. เพื่อวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงปัจจัย และผลกระทบ จึงทำให้เห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากนี้คงจะมีโครงการที่สำคัญในการพัฒนา แก้ไข และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจได้ว่าเมืองพัทยาจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อีกจำนวนมาก และจะมีความสมบูรณ์อย่างสูงสุดในอนาคต

ด้านนายทวีพงษ์ กล่าวว่า อพท.มองเห็นปัญหา และดำเนินการศึกษา วางแผนแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกเหนือจากการพัฒนา หรือการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นขยะ น้ำเสีย สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ได้รู้จักรัก หวงแหน และมีจิตสำนึกร่วมกันในการพัฒนาเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยงอย่างถูกต้อง

ต่อมา นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบูรณาการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ระหว่าง อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง และนายอิทธิพล ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเมืองพัทยาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น