เชียงราย - แกนนำชาวนาเชียงรายโวยกลางวงสัมมนาดีเอสไอ โรงสีบางแห่งบวกยอดจำนำข้าวเกินจริง 20% จิ้มค่าความชื้นตามใจชอบ กดราคาข้าวชาวนา กินกำไร 2 ต่อจริง จี้อนุกรรมการข้าวฯ ระดับจังหวัดดูแลด้วยตัวเอง แทนปล่อยให้แจ้ง ตร.กันเอง
วันนี้ (25 มิ.ย.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้จัดการบรรยายตามโครงการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว การทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณป้องกันสาธารณภัย และการทุจริตในการใช้งบประมาณ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคเหนือ ขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมโพธิ์วดล สปา แอนด์ รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย
โดยมีนางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานในพิธีเปิด และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรจังหวัด, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ตัวแทนเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าว ฯลฯ เข้าร่วมประมาณ 400 คน
นางศิวาพรกล่าวว่า การจัดโครงการครั้งนี้เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรว่าตามโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้เกษตรกรจะมีสิทธิอะไรและอย่างไรบ้าง รวมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วยเพื่อเป็นการบูรณาการการทำงาน ส่วนสาเหตุที่จัดขึ้นที่เชียงราย เพราะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และตามปกติทางดีเอสเอไอก็เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบโครงการนี้อยู่แล้ว ดังนั้นหากเกษตรกรที่เข้าร่วมมีข้อมูลใดก็สามารถแจ้งได้
นายบุญเรียน โนพะเส้า แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดความผิดปกติภายในโครงการรับจำนำข้าวหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่ใบประทวน ซึ่งส่งผ่านไปทางโรงสีที่เข้าโครงการรับจำนำมีการบวกปริมาณข้าวที่เกษตรกรนำไปจำนำเพิ่มขึ้นอีก 20%
เช่น ถ้าเกษตรกรนำข้าวไปจำนำจำนวน 1 ตัน ก็จะบวกตัวเลขในใบประทวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.2 ตัน แต่ปริมาณยังเท่าเดิม เป็นต้น รวมทั้งโรงสีในบางพื้นที่ไม่มีเครื่องวัดความชื้นจึงกดราคาข้าวที่เกษตรกรนำไปจำนำลง อ้างว่าความชื้นสูงหรือข้าวไม่มีคุณภาพ เช่น อ.เชียงแสน ฯลฯ ได้ราคาเพียงตันละ 10,000-11,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นโรงสีจึงได้กำไรสองต่อ ทั้งจากปริมาณข้าวในใบประทวนที่เพิ่มขึ้น และซื้อข้าวในราคาถูกเกินจริง
นายบุญเรียนกล่าวอีกว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้กลุ่มเกษตรกรเห็นว่าคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวระดับจังหวัด นำโดยผู้ว่าฯ การค้าภายใน ฯลฯ ต้องลงไปดูด้วยตัวเอง หรือเกษตรกรสามารถแจ้งตรงไปได้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ไม่ใช่ให้เกษตรกรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากตำรวจกับเจ้าของโรงสีก็รู้จักมักคุ้นกันดีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การจราจร ฯลฯ จึงไม่มีเวลาให้เกษตรกรเท่าที่ควรแน่นอน ขณะเดียวกัน กระบวนการของตำรวจก็ไม่เหมือนการตรวจสอบทุจริต เพราะเมื่อมีการแจ้งปัญหาก็จะต้องมีการเรียกบุคคลฝ่ายต่างๆ ไปสอบปากคำ ซึ่งกินระยะเวลาหลายวันด้วย
ด้านกลุ่มเกษตรกร อ.พาน จ.เชียงราย ที่นัดชุมนุมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอฯ บ่ายวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทต่อไป ล่าสุดทางฝ่ายปกครองพยายามเข้าไปเจรจาต่อรองกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมให้ยกเลิกการนัดหมาย แม้ว่ากลุ่มชาวนาจะจัดรถกระจายเสียง โปรยใบปลิว หรือเรียกระดมคนในเครือข่ายไปแล้วก็ตาม ขณะที่ชาวนา อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน ที่ก่อนหน้านี้จะจัดการชุมนุมเช่นกัน แต่ถูกฝ่ายปกครองขอร้อง ก็ได้หันมานัดประชุมระดับแกนนำกันที่ ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน ในวันที่ 27 มิ.ย. 56 นี้เพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวในอนาคตต่อไปแทน