กาญจนบุรี - ชาวนากาญจนบุรีกว่า 1,000 คน เตรียมเคลื่อนพลบุกทำเนียบฯ พรุ่งนี้เช้า (25 มิ.ย.) วอนรัฐบาลยกเลิกมติ กขช.ลดราคารับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน
จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในฤดูการผลิตปี 56 ปัจจุบันที่รับจำนำอยู่ที่ 15,000 บาทต่อตัน ลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2556 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรนำโดย นายสมปอง คำเที่ยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) พระแท่น อ.ท่ามะกา นายแรม เชียงกา แกนนำกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี และเกษตรกรชาวนาจังหวัดกาญจนบุรีกว่า 1,000 คน ได้ไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในการเจรจากับรัฐบาลแต่ก็ไร้ผล
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (24 มิ.ย.) นายแรม เชียงกา แกนนำกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่ายจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในฤดูกาลผลิตปี 56 ปัจจุบันที่รับจำนำอยู่ที่ 15,000 บาทต่อตัน ลดลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2556 เป็นต้นไป ที่ผ่านมาเรากลุ่มเกษตรกรชาวนาจังหวัดกาญจนบุรีกว่า 1,000 คน ได้ไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในการเจรจากับรัฐบาลแต่ก็ไร้ผล
ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติด้วยตัวของพวกเราเอง โดยพรุ่งนี้เช้าจะมีชาวนาประมาณ 1,000 คน จะมารวมตัวเพื่อเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยจัดเตรียมรถบัสเอาไว้ทั้งหมด 22 คัน หากเกษตรกรชาวนากลุ่มไหนพร้อมก็สามารถเดินทางล่วงหน้าไปได้เลย โดยจุดหมายจะไปรวมตัวกันที่จุดนัดพบคือ ลานพระบรมรูปทรงม้า คาดว่าเวลาประมาณ 09.00 น. ทุกคนจะถึงจุดหมาย
สำหรับข้อเรียกร้องของชาวนาเชื่อว่ารัฐบาลก็คงจะทราบไปแล้ว เพราะชาวนาต่างได้รับความเดือดร้อนเหมือนกันทั้งประเทศ แต่ตนเชื่อว่าหากรัฐบาลยังทำตาม หรือไม่ยกเลิกมติที่คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) เสนอ ชาวนาทั้งหมดอาจจะยังปักหลักอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าต่อไปอย่างแน่นอน ดังนั้น ขอให้รัฐบาลมีมติยกเลิกคำสั่งดังกล่าวให้เร็วที่สุด และขอแนะนำว่า ให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวให้ถูกจุด คือต้นเหตุอยู่ที่ต้นทุนในการผลิต เช่น ราคาปุ๋ย ราคาสารเคมีกำจัดศรัตรูพืช จะต้องให้ต้นทุนเหล่านี้ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ทราบดีอยู่แล้วว่าต้นเหตุมาจากอะไร