อุตรดิตถ์ - รองพ่อเมืองอุตรดิตถ์นำร่องโครงการปลูกข้าวสองเกวียน กิจกรรมการปลูกข้าวต้นเดียว หลังพบชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิตสูงถึงไร่ละ 5 พันบาท สูงกว่าเวียดนามถึง 50% แต่ผลผลิตต่ำกว่าเวียดนาม จีน และญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว
นวัตกรรมใหม่ของการทำนาด้วยการปลูกข้าวด้วยต้นกล้า 1 ต้นต่อ 1 จับ ที่แปลงทำนาบ้านชำหนึ่ง หมู่ 5 ต.ท่าสัก อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ มีนายศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นผู้ควบคุมการผลิต มีชาวนาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทุกขั้นตอนการผลิตกว่า 30 คน เพื่อจัดทำเป็นแปลงเรียนรู้ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตให้ได้สูงที่สุด
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า การทำนาในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ทำให้ต้นทุนสูงถึงไร่ละ 5,000 บาท สูงกว่าเวียดนามถึง 50% แต่ผลผลิตกลับต่ำกว่าเวียดนาม จีน และญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว ประกอบกับชาวนาใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมากขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศในนาข้าว ทำให้เกิดโรคแมลงระบาดรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวนาและผู้บริโภค จึงได้เกิดโครงการข้าวสองเกวียนเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเพื่อผลิตข้าวคุณภาพดีตามระบบเกษตรที่ดีเหมาะสม และพัฒนาให้เป็นข้าวอินทรีย์ในอนาคต ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำสุด และได้ผลผลิตสูงสุด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยกระดับข้าวให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด
หลังจากคัดเลือกพื้นที่ได้แล้ว กระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมดินด้วยการหมักตอซังข้าว ใส่มูลไก่ เติมโมลาส เพิ่มจุลินทรีย์วัตถุให้ดิน เมื่อไถหมักดินไปได้ระดับหนึ่งก็นำแหนแดงไปปล่อย จากนั้นไม่นานก็กระจายเต็มพื้นที่นา ซึ่งแหนแดงสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี และย่อยสลายได้ง่าย
ข้าวกล้าเพาะด้วยพันธุ์ กข. 47 ที่ชาวนาใช้ปลูกทั่วไปในกระบะหลุมละ 1 เมล็ด เมื่อโตราว 1 เดือนจึงนำไปปักดำ 1 จับต่อ 1 ต้น ระยะ 20-30 เซนติเมตร วิธีการนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์ 3 ขีดเท่านั้น จากปกติใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ละ 30 กิโลกรัม การดูแลก็ปฏิบัติตามปกติ จากการสังเกตพบว่าข้าว 1 ต้นสามารถแตกกอได้ราว 3-5 ต้น และการเจริญเติบโตอยู่ในระดับดีจนน่าพอใจ
คาดว่าต้นทุนการผลิตจะเหลือเพียง 2,000-3,000 บาท ผลผลิตราว 1,500-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะพัฒนาไปสู่ข้าวอินทรีย์ โดยวิธีการทำนาแบบนี้ทำให้ต้นข้าวได้รับแสงแดด และลมพัดผ่านอย่างทั่วถึง ทำให้ลดการแพร่ระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช ที่ผ่านมายังไม่เคยใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่จะใช้สารชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ทดแทนทั้งหมด