xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงสำรวจทุ่งกุลาร้องไห้ก่อนทำฝนเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายปนิธิ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  กรมฝนหลวง
ร้อยเอ็ด-ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงลงพื้นที่สำรวจน้ำผิวดินพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่ร้องขอให้ทำฝนเทียมช่วยนาข้าวที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนักมากกว่าทุกปี

นายปนิธิ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมฝนหลวง เปิดเผยว่า หลังจากมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน ขณะนี้มี 4 จังหวัด ที่มีสถานการณ์คลี่คลาย มีฝนตก และยกเลิกการประกาศภัยแล้งไปแล้ว 4 จังหวัด

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงฯ ก็จะถอนกำลังเข้ามาให้ความช่วยเหลือจังหวัดที่ร้องขอโดยตรงได้ แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงประเพณีบุญบั้งไฟ จึงจะดำเนินการได้เพียงสัปดาห์ละ 6 วันเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่จะจุดบั้งไฟในวันอาทิตย์ และเมื่อลงพื้นที่ปฏิบัติการก็ขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในพื้นที่ปฏิบัติการฝนหลวง งดการจุดบั้งไฟในวันจันทร์-ศุกร์ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่บินขึ้นทำฝนหลวง

นายปนิธิ กล่าวอีกว่า การนำเฮลิคอปเตอร์บินเข้าพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อบินสำรวจสภาพน้ำผิวดินในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ด ในเขต อ.สุวรรณภูมิ และลงพบปะ และร่วมประชุมรับทราบปัญหาภัยแล้งของพื้นที่ อ.สุวรรณภูมิ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ที่บ้านหนองควายอีน้อย หมู่ 1 ต.เมืองทุ่ง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เนื่องจากได้รับการร้องขอให้เข้าสำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ทั้งนี้ มี น.ส.นลินรัตน์ ศุภวันต์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ นายอดุลเดช มันวิชาไชย ปลัดอำเภอฯ ฝ่ายความมั่นคง นายบุญโฮม หงส์สระคู ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชน ชาวบ้าน และเกษตรกรผู้ทำนาปรังได้ทำหนังสือส่งตรงไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอให้ช่วยเหลือนาข้าวนาปรังที่กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และกำลังจะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง

ด้านนายอดุลเดช มันวิชาไชย ปลัดอำเภอสุวรรณภูมิ ฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ภัยแล้งของพื้นที่ อ.สุวรรณภูมิ เป็นผลกระทบเชื่อมโยงต่อเนื่องจากการที่ปีที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกน้อยในพื้นที่ จึงส่งผลกระทบเหลื่อมปีมาถึงปีนี้ ทำให้ทั้ง 15 ตำบล 199 หมู่บ้าน ของอำเภอสุวรรณภูมิ ได้รับผลกระทบไปแล้วถึง 14 ตำบล 184 หมู่บ้าน ยกเว้น ต.ทุ่งทอง ที่ติดลำน้ำเสียว และลำน้ำเตา ลำน้ำหลักของเกษตรวิสัยที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ

แต่อีกไม่เกิน 2 เดือน หากฝนไม่ตกก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน คือ พื้นที่ทำนาปรัง และน้ำเพื่อการปศุสัตว์ของชาวบ้านทั้งหมดจะได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่ทางด้าน นายบุญโฮม หงส์สระคู ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า เหตุที่มีการทำบันทึกร้องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงโดยตรง เนื่องจากตำบลเมืองทุ่ง เดือดร้อนที่สุด ปีที่แล้วฝนตกน้อย และยังไกลจากลำน้ำในเขตพื้นที่อำเภอทั้ง 2 สาย

ขณะนี้ข้าวนาปรังกว่า 2,500 ไร่ ของชาวบ้านกำลังจะเสียหายทั้งหมด และอีกไม่เกิน 1 เดือน นาข้าวทั้ง 8 หมู่บ้านของตำบล 6-7,000 ไร่ ก็จะได้รับความเสียหายทั้งหมด




กำลังโหลดความคิดเห็น