xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้ป่วยกินลาบหมูดิบเพิ่มอีก-แถมมีชาวบ้านฆ่าหมูดำกินใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน - ทีมแพทย์ รพ.ปัวลงพื้นที่บ้านศาลาคัดกรองชาวบ้านที่ได้สัมผัสหมูดิบเจ้าปัญหา จนมีคนป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายสิบคน แถมยังพบผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น

วันนี้ (13 มิ.ย.) ทีมแพทย์และงานควบคุมโรคระบาด โรงพยาบาลปัว จ.น่าน นำโดย นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระยุพราชปัว พร้อมด้วยนายเสถียร ปัทมวัฒน์ หัวหน้างานควบคุมโรคระบาด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว และเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ค้นหาผู้ที่สัมผัส และรับประทานลาบหมูดิบที่คาดว่ามีเชื้อพยาธิคริทิโนซิสที่วัดศาลา หมู่ 4 ต.เจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน

หลังชาวบ้านในพื้นที่บ้านศาลา ม.4 บ้านปงสนุก ม.2 และบ้านปง 1 หมู่ 9 ทยอยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรวม 29 ราย มีอาการหนักต้องเฝ้าดูอาการใกล้ชิด 9 รายเพราะรับประทานลาบหมูดิบ ซึ่งได้ทำกินกันในหมู่บ้านช่วงงานบวงสรวงพระธาตุประจำปีเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา

วันนี้มีชาวบ้านกว่า 60 รายมาคัดกรองและสอบสวนประวัติ ซึ่งบางส่วนเป็นผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการคัดกรองจากโรงพยาบาลแล้ว แต่มีอาการหนักขึ้นอีกจำเป็นต้องนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลปัวเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเป็นไข้หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่องเพิ่มขึ้นอีก

นพ.กิติศักดิ์เปิดเผยว่า จากการเข้าคัดกรองในหมู่บ้าน ศาลา ม.4 ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 60 รายที่ได้สัมผัสและรับประทานลาบหมูดิบ โดยพบผู้ป่วยที่ต้องส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพิ่มอีก 3 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาที่โรงพยาบาลปัว และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดรวมแล้ว 12 ราย และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากชาวบ้านที่ได้รับประทานเริ่มมีอาการเพิ่มขึ้น

เบื้องต้นแพทย์ต้องให้ยาฆ่าเชื้อพยาธิ ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และรักษาตามอาการไปก่อน เพื่อรอผลที่ชัดเจนจากการส่งชิ้นเนื้อไปส่งตรวจที่ภาควิชาปรสิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลตรวจที่แน่ชัดยืนยันว่าเป็นเชื้อทริคิโนซิสหรือไม่ภายในวันจันทร์นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีรายงานว่าชาวบ้านปงสนุก ม.2 ต.เจดีย์ชัย อ.ปัว กว่า 60 ราย ได้มีการชำแหละหมูดำในหมู่บ้านแจกจ่ายกันไปประกอบอาหาร โดยทีมแพทย์เตรียมนำยาฆ่าเชื้อพยาธิ และยาถ่ายพยาธิไปแจกจ่ายให้ทั้งหมด เนื่องจากว่าหากเนื้อหมูดำดังกล่าวมีเชื้อคริทิโนซิส และยังอยู่ในลำไส้ก็ยังสามารถฆ่าและขจัดออกจากร่างกายได้ แต่หากปล่อยให้มีการฟักตัวในระยะ 3 สัปดาห์ และเชื้อเข้าสู่กล้ามเนื้อก็จะทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก



กำลังโหลดความคิดเห็น