ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ตั้งแล้ว พระพิฆเนศวรปางยืนสามเศียร ทำจากไม้ตะเคียนทอง ภายใน “ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย” เผยเจ้าของตั้งใจให้เป็นที่รวบรวมงานศิลปะไทยชั้นเยี่ยม มีทั้งพระพิฆเนศวรใหญ่ที่สุด-บ้านประตูร้อยบาน ประดับภาพเทพทวารบาลตามแบบโบราณ-กระจกยักษ์แกะสลักลายครุฑยุดนาค ระบุไปศึกษางานศิลปะไทยชั้นเยี่ยมจากทั่วประเทศ ก่อนนำแบบมาให้ช่างวาด-แกะประดับทั่วบ้าน ลั่นใครสนใจเข้าชม-สักการะได้ฟรี
พระพิฆเนศวรปางยืนสามเศียรซึ่งจัดสร้างโดยนายเข้ม มฤคพิทักษ์ ได้ถูกอัญเชิญขึ้นประทับบนแท่นบูชา ณ บ้านเลขที่ 79/7 ซอย 2 ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ “ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย” แล้วในวันนี้ (11 มิ.ย.) โดยนายเข้มซึ่งเป็นเจ้าของพระพิฆเนศวร ว่าจ้างให้รถยกมาทำการยกองค์พระพิฆเนศวรจากที่ตั้งเดิมซึ่งอยู่ภายนอกบ้านเข้ามาตั้งภายในพื้นที่บ้าน ก่อนจะทำการยกองค์พระพิฆเนศวรขึ้นประทับบนแท่นบูชา แล้วจึงประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมถวายเครื่องเซ่นไหว้ ท่ามกลางประชาชนในบริเวณใกล้เคียง และสื่อมวลชนจำนวนมากที่ให้ความสนใจมาติดตามการนำองค์พระพิฆเนศวรขึ้นประทับบนแท่นบูชา รวมทั้งนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ และนายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ที่มาร่วมติดตามการนำองค์พระพิฆเนศวรขึ้นประทับบนแท่นบูชาในครั้งนี้ด้วย
สำหรับพระพิฆเนศวรองค์ดังกล่าวมีความสูง 6 เมตร หนักประมาณ 5 ตัน แกะสลักโดยนายโอรส ละมูล สล่าหรือช่างแกะสลักจากอำเภอสันป่าตอง และคณะรวม 4 คน ใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่ง โดยการว่าจ้างแกะสลักรวมถึงการติดตั้งใช้เงินส่วนตัวของนายเข้ม
ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นที่ตั้งขององค์พระพิฆเนศวรปางยืนสามเศียร ซึ่งคาดว่าจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในโลกแล้ว ภายในร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย ยังประกอบไปด้วยงานศิลปะแบบไทยอีกมากมายที่นายเข้มได้จัดสร้างขึ้น โดยภายในตัวบ้านประกอบด้วยบานประตูรวม 100 บานที่นายเข้มได้ว่าจ้างให้ช่างวาดภาพตามแบบโบราณที่ปรากฏตามวัดต่างๆ หลายแห่งในประเทศ ซึ่งทั้งหมดทำลงบนเนื้อไม้ เขียนสีผนึกทองคำแท้ และสามารถใช้งานเป็นบานประตูภายในตัวบ้านได้จริง อีกทั้งการที่มีบานประตูถึง 100 บานและวาดภาพเทพต่างๆ เอาไว้ จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อบ้านหลังดังกล่าวว่า ร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย
ขณะเดียวกัน ภายในบ้านยังติดตั้งกระจกแกะสลักลายขนาด 3.5x4.5 เมตร หนักประมาณ 1 ตันครึ่ง ซึ่งนายเข้มกล่าวว่าเป็นกระจกขนาดใหญ่ที่หล่อมาจากโรงงานโดยตรง และได้ให้ช่างซึ่งเป็นนักแกะสลักกระจกแบบ 3 มิติ มือวางอันดับหนึ่งของประเทศ ทำการแกะสลักกระจกเป็นลายครุฑยุดนาคตามแบบบนหีบพระธรรมลายรดน้ำลงรักปิดทองสมัยอยุธยา อายุประมาณ 300 ปี ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยกระจกดังกล่าวและกระจกแผ่นอื่นที่แกะสลักในลักษณะเดียวกัน เมื่อนำไปใส่กรอบที่มีการติดตั้งหลอดไฟแอลอีดีไว้ภายในแล้วจะช่วยทำให้ลวดลายแกะสลักเรืองแสงสวยงามมากยิ่งขึ้น
นายเข้มเปิดเผยว่า หลังจากนำองค์พระพิฆเนศวรขึ้นประทับบนแท่นบูชาแล้ว จะเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมหรือสักการบูชาได้ฟรี เช่นเดียวกับตัวบ้านร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย และกระจกแกะสลัก โดยพื้นที่ตรงนี้ตนต้องการให้เป็นสถานที่รวบรวมผลงานจิตรกรรม และศิลปะในแบบไทยโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชม รวมทั้งเป็นที่ประทับของเทพ ที่มีทั้งภาพวาดและภาพแกะสลัก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาจนถึงช่วงปลายปีนี้กว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ได้บันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากหากมีเงินก็จะสร้างไปเรื่อยๆ แต่ประเมินแล้วคงไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
ด้านนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเข้ามาเยี่ยมชม พบว่าร้อยทวารบาล บ้านเทวาลัย เป็นสถานที่ซึ่งน่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและผู้ที่เคารพสักการะพระพิฆเนศวรอย่างแน่นอนหากมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยหลังจากนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สวนสัตว์เชียงใหม่ เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวต่อไป