กาญจนบุรี - ช้างป่าสลักพระพิการตาบอด เดินชนกำแพง รพ.ท่ากระดานพัง ล่าสุด เจ้าหน้าที่ไล่ต้อนกลับเข้าป่าได้แล้ว
เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (8 มิ.ย.) นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า มีช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เดินพลัดหลงออกมานอกพื้นที่เพื่อหาอาหาร และได้กินพืชไร่ของชาวบ้านเป็นอาหาร อีกทั้งยังได้พังกำแพงของโรงพยาบาลท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ ซึ่งสร้างความหวาดผวาให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล และชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก
นายวรพจน์ เปิดเผยว่า ช้างป่าตัวดังกล่าว เป็นช้างเพศผู้ อายุประมาณ 25 ปี รูปร่างใหญ่ พิการตาขวาบอด ได้เดินเข้ามาหากินผลไม้ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะมะม่วง และขนุน ซึ่งอยู่ติดกับโรงพยาบาลท่ากระดาน แต่เนื่องจากช้างตาบอดจึงเป็นเหตุให้เดินชนกำแพงโรงพยาบาล จนทำให้กำแพงได้รับความเสียหาย แต่ไม่ใช่เกิดจากอาการดุร้าย หรืออาละวาด โดยช้างตัวนี้ได้เดินเข้า-ออกจากป่ามาหากินในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจึงได้ช่วยกันไล่ต้อนให้มันกลับเข้าไปในป่า พร้อมกับประสานไปยังอำเภอศรีสวัสดิ์ โรงพยาบาล และสาธารณสุข รวมทั้งมูลนิธิ ช.ช้างชรา เพื่อร่วมกันป้องกันมิให้มันกลับออกมาหากินเขตชุมชนอีก โดยได้นำเอาอาหารของช้าง เช่น สับปะรด เข้าไปเทกองไว้ในเขตป่าเพื่อล่อให้ช้างตัวนี้กลับเข้าไปหาอาหารกินในเขตป่า
ขณะเดียวกัน ก็ให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันเก็บผลไม้ที่เป็นอาหารที่ช้างชอบซึ่งอยู่ที่บริเวณโรงพยาบาล และที่อยู่ใกล้เคียงให้หมด เพราะหากมันกลับออกมาจากป่าอีก มันก็จะไม่มีอะไรกินเป็นอาหารแล้วก็จะกลับเข้าป่าไปเอง อย่างไรก็ตาม ช้างตัวดังกล่าวได้กลับเข้าไปอยู่ในเขตป่าแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าหม่องกระแทะ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากโรงพยาบาลท่ากระดานจะคอยเฝ้าระวัง และไล่ต้อนช้างให้เข้าไปอยู่ในป่าตามเดิม
ด้านนายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เผยว่า สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีจำนวนประชากรช้างประมาณ 270 ตัว และในแต่ละปี ช่วงระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ช้างป่ามักจะออกมาจากป่าเพื่อมาหากินอาหารในเขตชุมชนอยู่เป็นประจำทุกปี ยิ่งในช่วงที่มะม่วงออกผล จะมีเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ เนื่องจากมะม่วงเป็นอาหารที่ช้างโปรดปรานมากเป็นพิเศษ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้ช้างป่าออกมาจากเขตป่า เช่น แนวรั้วไฟฟ้า แต่ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขุดสระน้ำเพิ่มเติมในเขตป่า และปลูกพืชอาหารช้างเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ช้างมีแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารที่เพียงพอ