xs
xsm
sm
md
lg

ชาวช่องเม็กสะท้อนรัฐลืมวีถีชีวิตคนสองฝั่งไทย-ลาว ทำค้าขายชายแดนย่ำแย่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - ร้านค้าด่านพรมแดนไทย-ลาว ช่องเม็ก ชี้รัฐตามก้นฝรั่ง มองแค่ยกระดับเป็นด่านสากล แต่ลืมความเป็นตัวตนของท้องถิ่น ทำการค้าตกต่ำถึงขีดสุด ด้านศุลกากรแนะชาวบ้านต้องปรับตัว หาจุดเด่นสู้ห้างใหญ่เพื่อให้อยู่รอด

วันนี้ (19 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ด่านสากลไทย-ลาว ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเสด จัดเสวนาปัญหาการพัฒนาด่านช่องเม็ก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน มีตัวแทนจากศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง นักวิชาการ และพ่อค้าแม่ค้าร่วมสะท้อนปัญหา มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยเปิดประเด็นถามหาความอยู่รอดทางการค้าของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หลังปรับเป็นด่านสากลไทย-ลาวแล้ว ซึ่งนายประพันธ์ จันทร์ไทยศรี ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด่านศุลกากรช่องเม็ก กล่าวว่า หากเพื่อความอยู่รอดของพ่อค้าแม่ขายแล้ว ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ โดยพ่อค้าแม่ค้าต้องปรับปรุงรูปแบบการค้าขาย การให้บริการ สร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ตนเอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และกลับมาเที่ยวอีก

แต่ยอมรับว่า ปัจจุบันทางเลือกของผู้ซื้อมีมากขึ้น ดังนั้น การที่ชาวบ้านอ้างว่าสมัยก่อนขายดี พอปรับเป็นด่านสากลทำให้การค้าขายซบเซานั้น มีปัจจัยจากหลายสาเหตุ โดยต้องยอมรับว่า หลังปี 2540 เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ไม่แต่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น เศรษฐียังพากันล้มละลาย หลังจากนั้น ห้างใหญ่ข้ามชาติรุกคืบเข้ามา ผู้บริโภคมีทางเลือกก็เลยแย่งส่วนแบ่งด้านการตลาดไป

พ.ต.ท.พันธศักย์ พันธุ์เพ็ง รอง ผกก.ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพิบูลมังสาหาร ซึ่งดูแลการผ่านแดนช่องเม็ก กล่าวถึงกระบวนการผ่านแดนหลังการยกระดับเป็นด่านสากลในปี 2549 ว่า เกิดจากกระบวนการข้อตกลงการข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว ว่า ผู้ที่ต้องการข้ามแดนต้องมีเอกสารหลักฐานเข้า-ออก ทั้งคนไทย และคนลาว พร้อมยอมรับว่าช่วงปีแรกมีความยุ่งยาก ใช้เวลานานทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเบื่อหน่าย

แต่ต่อมาได้รับการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนลดลง นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกขึ้น ซึ่งปัจจุบันตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเน้นป้องกันการค้าสิ่งของผิดกฎหมาย ทั้งการค้ามนุษย์ ยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง เพื่อจัดระเบียบให้ด่านช่องเม็กน่าท่องเที่ยวมากขึ้น

ขณะที่ ผศ.ชื่น ศรีสวัสดิ์ นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มองปัญหาดังกล่าวว่า เป็นยุคของโลกเสรี ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทุนน้อยได้รับผลกระทบ นักการเมืองถูกควบคุมโดยพ่อค้าข้ามชาติ ทั้งที่ศักยภาพพื้นฐานของด่านช่องเม็กสามารถเป็นศูนย์กลางของอาเซียน คือ ไทย-ลาว-เวียดนามได้ ทุกภาคส่วนจึงต้องหันหน้ามาคุยกัน มีผู้นำในการขับเคลื่อนพัฒนาตามความต้องการของผู้ค้ารายย่อย เพื่อให้อยู่ได้เหมือนผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยช่องเม็กต้องมีสินค้าคุณภาพ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวแห่กันมาเที่ยว จะช่วยให้การค้าขายปรับตัวดีขึ้น

ด้านนายฉัตร จันทร์แก้ว สมาชิกสภาเทศบาลตำบลช่องเม็ก กล่าวถึงจุดเด่นของด่านช่องเม็กว่า ไม่ใช่ความเป็นสากล แต่เป็นวิถีชีวิตของคนทั้งสองฝั่งไทย-ลาว โดยปี 2539 แม้ร้านค้ามีจำนวนมาก แต่ร้านเล็กๆ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อวัน ส่วนร้านใหญ่มีรายได้กว่า 100,000 บาทต่อวัน ทำให้การค้าขายลื่นไหล มีกำไร แต่หลังจากปรับเป็นด่านผ่านแดนสากล รายได้หดหายลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียงวันละไม่กี่พันบาท ทำให้ช่องเม็กวันนี้ใกล้หมดลมหายใจแล้ว

นางฟ้าดาว พิทักษา ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า รัฐจะพัฒนาช่องเม็กอย่างไรก็ได้ แต่ให้คงไว้ซึ่งวิถีชีวิต ประเพณีดั้งเดิมของคนของสองฝั่ง อย่าตามก้นฝรั่งเพียงอย่างเดียว เพราะประเพณีคนสองฝั่งไทย-ลาว มีการแบ่งปัน อย่าได้ทอดทิ้งชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าช่องเม็ก หากมีอิสระทางความคิดก็สามารถจัดการบริหารจัดระเบียบช่องเม็กได้ แต่รัฐต้องไม่ครอบงำความคิดนั้นไว้

สำหรับการค้าที่ด่านพรมแดนไทย-ลาว ช่องเม็ก เริ่มเปิดดำเนินการครั้งแรกปี 2505 และปิดตัวหลังสิ้นสุดสงครามเวียดนามปี 2518 เนื่องจากประเทศเวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ต่อมา ในปี 2532 โลกสิ้นสุดสงครามเย็น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายทหารที่มีความคิดก้าวหน้าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศปรับสนามรบให้เป็นสนามการค้า เปิดประเทศค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีระบอบการปกครองแตกต่างกันอีกครั้ง

ด่านช่องเม็กจึงเป็นจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว ด้านอีสานใต้ ช่วงแรกการเปิดด่านค้าขาย ราษฎรลาวนำสินค้าพื้นเมืองที่หาได้จากในพื้นที่ เช่น เครื่องหวาย อาหาร พืชผัก สัตว์ป่า สมุนไพร มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าไทยที่นำสินค้าจำพวกเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งวิทยุทรานซิสเตอร์ เครื่องเล่นเทป โทรทัศน์ ของใช้ในครัวเรือน อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม

การค้าขายช่วงแรกจึงเป็นการค้าของผู้ค้ารายย่อย โดยฝ่ายไทยให้คนลาวเดินทางข้ามแดนเข้ามาซื้อของได้ฟรี แต่ฝ่ายลาวเรียกค่าผ่านแดน (ค่าเหยียบดิน) คนละ 5 บาท ทำให้เกิดการท่องเที่ยวของคนท้องถิ่น ทั้งจากแขวงจำปาสัก ประเทศลาว และคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ต่อมา สมัยนายชวน หลักภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายยกระดับจุดผ่านแดนถาวรเป็นด่านสากล

แต่เริ่มจริงจังสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเป็นด่านสากลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 โดยมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดนในอัตราสูงทั้งขาไป และกลับ และมีขั้นตอนขอข้ามแดนยุ่งยาก ส่งผลกระทบต่อการค้าที่ตลาดพรมแดนช่องเม็กเรื่อยมา แม้ต่อมา ทางการไทยมีการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดน (ส่วนลาวยังเก็บตามเดิม) แต่ไม่ได้ช่วยให้การค้าทั้งฝ่ายไทย และลาวดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะการค้าระหว่างแดนถูกกลุ่มพ่อค้ารายใหญ่ยึดครองไป โดยอาศัยระเบียบการผ่านแดนตั้งแต่ปี 2549 เป็นตัวกีดกันทางการค้า

การจัดวงเสวนาปัญหาการจัดระเบียบด่านชายแดนช่องเม็กครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกภาคส่วนต้องมาคุยกัน เพื่อแก้ปัญหา และส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วยต่อลมหายใจให้การค้าขายที่ด่านพรมแดนช่องเม็กให้มีอายุยืนยาวได้ต่อไป

สำหรับการเสวนานี้ สามารถชมเทปบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล ซึ่งออกอากาศทางวีเคเบิลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75Mhz และ Cleanradio 92.5Mhz อุบลราชธานี




กำลังโหลดความคิดเห็น