ระยอง - โครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพี เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประชุมประชาคมแก้ไขผังเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย-มาบข่า ครั้งที่ 2 ชาวบ้านส่วนใหญ่ตกลงให้มีการแก้ผังเมือง แต่ขอให้รับคนในชุมชนเข้าทำงานเป็นกรณีพิเศษ
วันนี้ (10 พ.ค.) ที่วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีการจัดประชุมประชาคมการแก้ไขผังเมืองเมืองรวม ชุมชนบ้านค่าย-มาบข่า ครั้งที่ 2 พื้นที่ อ.นิคมพัฒนา โดยนายอัมพร พรวราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) และนายจรัส จิตกิจติจำรัส ผู้อำนวยการโครงการ ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) โครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพี และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกแปรรูป เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 300 คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
นายมนต์ชัย พิณประเสริฐ นายอำเภอนิคมพัฒนา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยนายมนตรี เกียรติมนตรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง นายอดุลย์ นิยมสมาน สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เขต อ.บ้านค่าย นายเดชา บุญธรรม ส.อบจ. เขต อ.นิคมพัฒนา นายสนิท พุทธสังฆ์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองละลอก เข้าร่วมประชุมด้วย
นายอัมพร กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประกาศใช้ผังเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย-มาบข่า พื้นที่ อ.นิคมพัฒนา และ อ.บ้านค่าย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 พื้นที่ของโครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และบางส่วนของบริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ดินประเภทสีเขียว แต่ทางบริษัททั้ง 2 แห่งมีความประสงค์ที่จะใช้ที่ดินกว่า 3,000 ไร่เศษ เพื่อการอุตสาหกรรม จึงต้องยื่นแก้ไขผังเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย-มาบข่าใหม่ ต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ที่ประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมือง จ.ระยอง ลงความเห็นให้บริษัทที่ยื่นขอแก้ไขผังเมืองไปทำประชาคมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความเห็นข้อสรุปไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองอีกครั้ง
นายอัมพร กล่าวว่า บริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มธุรกิจประเภทผลิตพลาสติกแผ่นแข็ง และเคลือบประกบพลาสติก เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ผลิตแกนกระดาษป้อนให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตประเภทต่างๆ ที่ต้องใช้การบรรจุแบบม้วน และให้บริการเช่าพื้นที่โรงงานแก่บริษัทร่วมทุนเดิม
ชาวบ้านได้ขอกับ นายอัมพร และนายจรัส ว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.แลนด์ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนบ้านค่าย-มาบข่า ขอให้เปิดรับ และพิจารณาชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้าไปทำงานเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งคนในชุมชนต้องการทำงานในโรงงานซึ่งอยู่ใกล้บ้าน แต่ถ้าเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษก็ไม่มีใครยอมให้ตั้งโรงงานในพื้นที่แน่นอน