ประจวบคีรีขันธ์ - กรมชลประทาน ร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เร่งติดตั้งเครื่องเติมอากาศ และปล่อยสารอีเอ็มเพื่อแก้ปัญหาน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาเต่า โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังน้ำเกิดเน่าเสียจนถึงขั้นวิกฤต รวมทั้งการจัดทำแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการนำน้ำจากเขื่อนปราณบุรีเข้ามาเติม และการจัดระบบบำบัดน้ำเสียจากโครงการบ้านจัดสรรไม่ให้ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำฯโดยเด็ดขาด
วันนี้ (8 พ.ค.) นายสมมิตร ศิลป์ประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ พร้อมด้วย พล.อ.พดล วรรธโนทัย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 14 โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนจากเทศบาลหัวหิน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวบ้านชุมชนเขาเต่า ร่วมประชุมวางแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียถึงขั้นวิกฤต ภายในอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สำนักงานโครงการชลประทานที่ 14 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ต่อจากนั้น คณะทั้งหมดได้เดินทางลงพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดูสภาพปัญหา และการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยในวันนี้ ทางกรมชลประทานได้เข้ามาติดตั้งเครื่องเติมอากาศเพิ่มออกซิเจน และนำเรือลงในอ่างเก็บน้ำเขาเต่าปล่อยสารอีเอ็ม ซึ่งเป็นสารจุลินทรีย์ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย เนื่องจากพบว่า คุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอยู่ในขั้นวิกฤต มีค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำไม่ถึง 40 มิลลิกรัม/ลิตร ส่งผลให้ปลาตาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 3 ปี
นายสมมิตร ศิลป์ประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำเขาเต่า เป็นอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริ แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว คือ การเติบโตของชุมชน การปลูกบ้าน และสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรรอบอ่างเก็บน้ำฯ ที่มีจำนวนมากขึ้น และปล่อยน้ำเสียลงไป ปริมาณน้ำที่เหลือน้อยไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตร จากความจุของอ่างฯ ที่สามารถรองรับน้ำได้ถึง 600,00 ลูกบาศก์เมตร ประกอบกับไม่เคยมีการขุดลอกมานานนับสิบปีทำให้มีสภาพตื้นเขิน เต็มไปด้วยเศษวัชพืชทับถมเกือบ 1 เมตร และไม่มีการหมุนเวียนของน้ำ ไม่มีน้ำดีเข้ามาเติม นอกจากนี้ ยังขาดหน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพหลักในการเข้ามาจัดการดูแลปัญหาอย่างจริงจัง
นายสมมิตร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เบื้องต้นจะต้องทำการเติมอากาศเข้าไป เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้นำเครื่องเติมอากาศมาติดตั้งที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่า และจะปล่อยสารอีกเอ็มต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ พร้อมกันนี้ จะต้องมีการเก็บข้อมูลคุณมูลคุณภาพเป็นระยะด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้คุณภาพดีขึ้น
จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการวางแนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาวร่วมกัน ในหลายแนวทาง ประกอบด้วย การควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย โดยจะต้องปิดท่อระบายน้ำจากบ้านเรือนที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขาเต่า เชื่อมต่อท่อระบายน้ำออกไปเส้นทางอื่น พร้อมทำระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงทะเล มาตรการต่อมาคือ การใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย โดยจะมีการเชื่อมท่อรับน้ำดีจากเขื่อนปราณบุรีเข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำอีกอย่างน้อย 1-2 แสนลูกบาศก์เมตร พร้อมกันนี้ จะต้องขุดลอกเศษวัชพืช และโคลนออกด้วย และควบคุมการรุกล้ำพื้นที่ขอบอ่าง และการเลี้ยงปลาในกระชังด้วย