ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดสัมมนาที่เชียงใหม่ ให้ความรู้ผู้ประกอบการเรื่องตลาดอินโดนีเซีย พร้อมคัดสรรผู้ประกอบการดีเด่นเตรียมเปิดตลาดปลายเดือนนี้ ชี้ตลาดอิเหนามีศักยภาพ แต่ผู้ประกอบการต้องแม่นกติกาก่อนบุกตลาด ด้านภาคเอกชนระบุ หากเข้าได้มีโอกาสขยายต่อไปตลาดมุสลิมอื่น แนะเริ่มต้นเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม
วันนี้ (8 พ.ค. ) นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการ โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าดี 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สร้างสรรค์สู่สากล (เจาะลึกตลาดอินโดนีเซีย) ณ ห้องพิณทอง โรงแรมชียงใหม่ แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ประกอบการและตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในการออกสู่ตลาดสากล โดยเน้นตลาดประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของอาเซียน และเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีศักยภาพที่น่าสนใจในหลายด้าน
นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดการสัมมนาในครั้งนี้ว่า ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าดีเด่นให้ก้าวไปสู่ตลาดโลก ซึ่งในเบื้องต้นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าชุมชนที่มีศักยภาพได้ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ตั้งเป้าหมายในกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 6 และประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ส่วนหัวข้อสัมมนาครั้งนี้เน้นไปที่การให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ และมีโอกาสที่สินค้าหลายอย่างของไทยเข้าไปทำตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า หรือของตกแต่งบ้าน เนื่องจากคุณภาพของสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ และมีคุณภาพสูงกว่าสินค้ากลุ่มเดียวกันที่ผลิตในประเทศ
นางขวัญนภากล่าวต่อไปว่า การจะเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดมุสลิมขนาดใหญ่นั้น สินค้าในกลุ่มอาหารจำเป็นจะต้องได้รับเครื่องหมายฮาลาล ส่วนสินค้าในกลุ่มแฟชั่นหรือของตกแต่งบ้านสามารถเจาะตลาดกลุ่มบนได้ ส่วนสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะจากเชียงใหม่ อย่างลำไยหรือหอมแดงก็มีการค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังคงมีกฎระเบียบหลายอย่างที่เข้มงวด รวมทั้งการตั้งภาษีในระดับสูงสำหรับสินค้าบางชนิด ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าไปทำตลาดต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ครบถ้วนเสียก่อน
ส่วนการนำสินค้าของผู้ประกอบการจากพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือเข้าไปทำตลาดในอินโดนีเซียนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ จังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ทางสำนักงานได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสนใจในตลาดมุสลิม โดยหลังจากการจัดสัมมนาแล้วจะมีการนำกลุ่มผู้ประกอบการจาก 4 จังหวัดภาคเหนือไปเปิดตลาดและเจรจาการค้าที่เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซียในระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคมถึงวันที่ 4 มิถุนายนนี้
ด้านนายสรกิจ มั่นบุปผชาติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดอินโดนีเซียถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อที่สูงมาก เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 แล้ว ยังเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ดังนั้น หากสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิมในประเทศอินโดนีเซียได้แล้ว ย่อมเป็นการง่ายที่จะขยายตลาดต่อไปยังตลาดอื่นๆ ซึ่งสินค้าจากประเทศไทย รวมทั้งสินค้าจากภาคเหนือที่มองว่ามีโอกาสในการเข้าไปทำตลาดในประเทศอินโดนีเซียนั้น ทั้งผลไม้ งานหัตถกรรม และเสื้อผ้า ล้วนมีโอกาสเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะผลไม้ไทยนั้นปัจจุบันเป็นที่นิยมของตลาดอินโดนีเซียมากเพราะมีรสชาติที่ดี ถูกปากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสหวาน เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งเนื่องมาจากผลไม้ที่ปลูกในประเทศอินโดนีเซียมีรสชาติไม่ดีนักเพราะพื้นที่ปลูกเป็นดินภูเขาไฟ ขณะที่เสื้อผ้าจากประเทศไทยก็เป็นที่นิยมของตลาดในอินโดนีเซียเช่นกัน
สำหรับความท้าทายในการเจาะตลาดอินโดนีเซียนั้น นายสรกิจระบุว่า แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีประชากรมากและตลาดใหญ่ แต่การที่ภูมิประเทศประกอบด้วยเกาะนับหมื่นเกาะ ซึ่งแต่ละเกาะต่างมีประชากรและวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมทั้งความต้องการบริโภคที่แตกต่างกันไป จึงเป็นการยากที่จะทำตลาดตอบสนองความต้องการที่หลากหลายดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม เสนอแนะว่ากลยุทธ์ในการเจาะตลาดอินโดนีเซียจึงควรจะเริ่มต้นด้วยการทำตลาดเฉพาะกลุ่มไปก่อน เช่น ตลาดผู้บริโภคในเมืองสำคัญ เป็นต้น เมื่อประสบความสำเร็จแล้วค่อยขยายไปยังตลาดอื่นต่อไปตามลำดับ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือ คุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการและรสนิยมองผู้บริโภค ตลอดจนต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของอินโดนีเซีย