ลำปาง - ชาวอำเภอแจ้ห่มใช้โอกาสยามว่างก่อนเข้าฤดูทำนา แห่ถือไม้ไผ่ทา “ข้าวม่ำ” หรือกาวแป้งข้าวเหนียวเดินเข้าป่าต้นน้ำ จับ “จักจั่น” ขายเป็นรายได้เสริมสู้แล้ง
ช่วงหน้าแล้งก่อนเข้าสู่ฤดูทำนาทุกปี ชาวบ้านาไผ่ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ต่างใช้โอกาสนี้พากันถือไม้ไผ่ขนาดยาว 1.50 เมตร ทาด้วยแป้งข้าวเหนียว หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ข้าวม่ำ” ซึ่งจะมีความเหนียวคล้ายกาว มุ่งหน้าเดินไปตามลำห้วยแม่มาย ที่อยู่ในผืนป่าต้นแม่น้ำที่ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ เขต ต.บ้านแลง อ.เมืองลำปาง
หลังจากที่เดินไปมาไม่นานนักก็จะเห็นว่ามีตัวจักจั่นบินมาเกาะบริเวณปลายไม้ไผ่ และติดคาอยู่บริเวณที่ทาด้วยแป้งข้าวเหนียวจำนวนมาก พร้อมกับส่งเสียงร้องจนทำให้จักจั่นตัวอื่นบินมาเกาะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ชาวบ้านที่ออกหาจักจั่นบอกว่า ในช่วงนี้เป็นหน้าร้อนจักจั่นจำนวนมากจะออกมาหาคู่ ซึ่งก็จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านหลายคนออกล่าจักจั่นเป็นอาชีพเสริมก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูปลูกข้าวในเดือนหน้านี้ด้วย
สำหรับการออกหาจักจั่นนั้นจะใช้วิธีทางธรรมชาติ คือ ขั้นตอนแรกก็เตรียมไม้ไผ่ขนาดความยาว 1.50 เมตร 1 ท่อน ใช้ใบไม้คลุมปลายสุดของไม้ไว้ เพื่อให้แมลงเห็นว่า เป็นต้นไม้ จากนั้นการทำ “ข้าวม่ำ” หรือแป้งข้าวเหนียว คือการนำข้าวเหนียวไปแช่น้ำ 1 คืน ก่อนนำมาตำพอละเอียดแล้วเอาน้ำใส่ผสมในหม้อ ตั้งไฟเคี่ยวจนเป็นแป้งเหนียว เสร็จแล้วเวลาออกหาจักจั่นก็จะนำแป้งข้าวเหนียวทาปลายไม้แล้วเดินไปตามจุดที่มีเสียงจักจั่นร้อง โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ-ลำห้วย ลำธารต่างๆ
ส่วนที่เลือกมาหาจักจั่นในพื้นที่แห่งนี้ เพราะอยู่ห่างกันแค่ไม่ถึง 10 กิโลเมตร แม้จะอยู่ต่างอำเภอแต่พื้นที่ใกล้กัน และพื้นที่แห่งนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก หลังจากที่มีจักจั่นบินมาเกาะที่ปลายไม้ก็จะจับออกใส่ข้องที่เตรียมไว้ จากนั้นก็จะใช้ไม้อีกอันเคาะตามกิ่งไม้ต้นไม้ ให้จักจั่นตกใจบินมาเกาะที่ปลายไม้ดังกล่าวต่อไป
แต่ละวันชาวบ้านสามารถสร้างรายได้มากพอสมควร โดยจักจั่นประมาณ 50-60 ตัว ก็จะแบ่งขายได้ประมาณ 40 บาท ทำเงินได้ก็ไม่ต่ำกว่า 300-500 บาทต่อคนแล้วแต่ว่า กำลังและความขยันของแต่ละคน
ส่วนการนำไปประกอบอาหาร ส่วนใหญ่จะเอาไปคั่วเกลือกินและหากจะเก็บไว้กินนานๆ ก็จะเอาไปนึ่ง และแช่ตู้เย็นเก็บไว้กินได้นานประมาณครึ่งปี ซึ่งการหาจักจั่นด้วยวิธีธรรมชาตินั้นสืบทอดมายาวนานแล้ว และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการสืบสายพันธุ์ของจักจั่นแต่อย่างใด