xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์ระทม แหล่งน้ำธรรมชาติวิกฤตแห้งขอด 100% จี้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆทุกพื้นที่ในจ.กาฬสินธุ์ ทั้ง ห้วย หนอง คลองบึง ซึ่งเดิมมีความเติ้นเขินอยู่แล้วปริมาณน้ำแห้งขอด 100 % จนมองเห็นพื้นที่ดินที่แตกระแหง
กาฬสินธุ์ - ชาวกาฬสินธุ์ระทม หลังประสบภาวะฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน แหล่งน้ำธรรมชาติ ห้วยหนองคลองบึงตื้นเขินแห้งขอด 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนกว่า 400,000 ราย จี้รัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเร่งจัดสรรงบให้ความช่วยเหลือ ระบุหน่วยงานระดับจังหวัดไม่มีงบประมาณเพียงพอช่วยชาวบ้าน

สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังคงทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากการตรวจสอบพบว่า แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำสาธารณะทุกพื้นที่ห้วยหนองคลองบึงซึ่งเดิมมีความตื้นเขินอยู่แล้วปริมาณน้ำแห้งขอด 100% จนมองเห็นพื้นที่ดินที่แตกระแหง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 18 แห่ง ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งการอุปโภคบริโภค และการเกษตรให้แก่ประชาชนทั้ง 18 อำเภอ เหลือประมาณน้ำอยู่เพียง 17 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19% ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 12 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว ล่าสุดเหลือน้ำอยู่เพียง 254 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 154 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งกว่า 400,000 ราย ซึ่งวิกฤตสุดในรอบ 45 ปี

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบในการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว ยังกระทบไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอีกด้วย ซึ่งล่าสุดสวนชุมพู่ของชาวบ้านในพื้นที่บ้านนาเชือก ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ประสบกับสภาพความแห้งแล้งตลอดทั้งวัน ทำให้ศัตรูพืชอย่างเช่นหนอนได้กัดกินใบจนหมด ต้นชมพู่ก็เริ่มแห้งตายเนื่องจากไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงลำต้นเป็นเวลานาน

โดยชาวบ้านที่ปลูกชมพู่บอกว่า แต่ก่อนได้ปลูกชมพู่ไว้เพื่อจำหน่ายทำให้มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่ปีนี้ได้ประสบกับสภาพความแห้งแล้งอย่างรุนแรง เขื่อนไม่สามารถปล่อยน้ำมาใช้ในการเกษตรได้จึงทำให้ไม่มีน้ำในการหล่อลี้ยงต้นชมพู่

อีกทั้งยังมีศัตรูพืชมารบกวนทำให้ใบร่วงหล่นต้นชมพูก็เริ่มแห้งตาย ทำให้ปีนี้ไม่มีชมพู่ออกจำหน่าย จึงอยากให้ทางภาครัฐนำน้ำมาช่วยเหลือ เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นชมพู่ไม่ให้ตายทั้งหมดก่อนจะถึงช่วงหน้าฝน

ขณะที่แหล่งข่าวหน่วยงานแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ระบุว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดประกาศให้ทั้ง 18 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ง โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้อนุมัติงบประมาณให้อำเภอละ 1 ล้านบาท พร้อมประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยเน้นช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก แต่งบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ค่อนข้างรุนแรงกว่าทุกปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้จะมีรัฐมนตรีระดับเจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเองหลายคน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ซึ่งมีเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วยงานเท่านั้นที่จัดสรรงบประมาณในการขุดเจาะบ่อบาดาล ส่วนทางจังหวัดทำได้เพียงสนับสนุนค่าน้ำมันในการนำรถบรรทุกนำออกแจกจ่ายน้ำเท่านั้น

แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ชาวบ้านจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือ เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ชาวบ้านต้องตายแล้งแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น