xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมอุทยานฯ นำทีมช่วยสัตว์ป่าที่ “วัดเวฬุคีรีวงษ์” สุพรรณบุรีแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - อธิบดีกรมอุทยานฯ นำทีมช่วยสัตว์ป่าที่ “วัดเวฬุคีรีวงษ์” สุพรรณบุรี หลังทางวัดแจ้งเลี้ยงไม่ไหว คาดใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายประมาณ 1 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ

จากกรณีที่เจ้าอาวาสวัดเวฬุวันคีรีวงษ์ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ได้แจ้งต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่า อยากให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มารับสัตว์ป่าที่อุปการะไว้ไปดูแล เนื่องจากทางวัดไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้นั้น

ต่อมา เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (17 มี.ค.) นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากว่า 50 นาย ได้ลงพื้นที่วัดเวฬุวันคีรีวงษ์ เลขที่ 97/1 หมู่ 2 ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดยนายมโนพัฬ พร้อมนายธีรภัทร ได้เข้าหารือกับพระครูเวฬุวันกาญจนวงศ์ เพี่อขอรับทราบเกี่ยวกับที่มาของสัตว์ป่าที่ครอบครองไว้ทั้งหมด โดยในวัดได้ใช้รั้วเหล็กกั้นของเขตแนวพื้นที่เชิงเขาเป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ไว้ให้สัตว์ป่าเหล่านี้ได้มีอิสระในการอยู่อาศัย และมีการให้อาหารแก่สัตว์จำนวนมากพอสมควร โดยเท่าที่เห็นด้วยตาพบว่า เก้งเกือบ 100 ตัว และยังมีลิงกังอีกประมาณ 10 กว่าตัว และยังพบไก่ฟ้าไก่ป่า และนกนานาชนิดจำนวนมาก

โดยพระครูเวฬุวันกาญจนวงศ์ เล่าว่า สัตว์ป่าทั้งหมดเป็นสัตว์ที่มาอยู่ที่วัดนานมาแล้ว และหลวงพ่อใหญ่ เจ้าอาวาสองค์เก่าได้มีเมตตาเลี้ยงไว้ ต่อมา ทางวัดได้ทำการขึ้นทะเบียนต่อกรมอุทยานฯ ไว้ตั้งแต่ 2546 โดยเบื้องต้น มีเก้ง จำนวน 5 ตัว และลิง เลียงผา และไก่ฟ้าจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการอยู่กันมารวมกันทั้งสัตว์ และพระ โดยเฉพาะเก้งมีการแพร่พันธุ์จำนวนมากจนขณะนี้มีอยู่เกือบ 100 ตัว ต่อมา เมื่อสัตว์ต่างๆ มีจำนวนมากขึ้น และทางวัดก็ไม่สามารถที่จะหาอาหารให้แก่สัตว์เหล่านี้กินได้อิ่ม และในอนาคตหากไม่มีการควบคุมก็จะเพิ่มจำนวนอีกมาก ดังนั้น หลวงพ่อใหญ่ท่านจึงได้ดำริว่าควรที่จะประสานกรมอุทยนานฯ ให้มาช่วยรับไปดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไป โดยจะให้ไปเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่แก่เฒ่าแล้วทางวัดก็จะเลี้ยงดูไว้เหมือนเดิม เอาเท่าที่สามารถดูแลได้

นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลังจากตนได้รับรายงานว่า ทางวัดเวฬุวันคีรีวงษ์ ต้องการที่จะให้กรมอุทยานฯ เข้ามาช่วยเหลือนำสัตว์ในครอบครองที่มีการขออนุญาตครอบครองขึ้นทะเบียนตั้งปี 2546 ที่ผ่านมา ซึ่งตนมาดูแล้วก็รู้สึกสงสาร และต้องชื่นชมวัดทั้งท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อน และองค์ปัจจุบัน รวมถึงลูกศิษย์ประชาชนในพื้นที่ที่ช่วยกันดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นอย่างดี ในเบื้องต้น ทราบว่ามีเก้งเกือบ 100 ตัว และลิงกังอีกกว่า 10 ตัว เลียงผา 1 ตัว และไก่ฟ้าอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ทางกรมอุทยานฯ มีความยินดีที่จะรับสัตว์เหล่านี้ไปดูแล โดยจะนำไปไว้ที่อุทยานแห่งชาติพุเตย อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เพื่อนำไปเลี้ยงดู และเพื่อเป็นการส่งเสริมในการให้ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมจะได้ศึกษา และมีความรู้มากขึ้น

นายมโนพัฬ กล่าวต่อว่า การดูแลจะสัตว์ป่าทั้งหมดปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และจะให้ทางอุทยานฯ พุเตย ทำการประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วยว่าเก้ง และสัตว์ป่าทั้งหมดมีความคุ้นเคยกับมนุษย์มาก ดังนั้น จึงอยากให้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ไว้ ซึ่งในการเคลื่อนย้ายในครั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ มากำกับดูแลในการเคลื่อนย้ายตามหลักวิชาการ คงใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายประมาณ 1 เดือน จึงจะเสร็จสิ้น โดยสัตว์ทั้งหมดเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติจากสัตว์ป่าที่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546 ที่มีการนิรโทษกรรมแก้ผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่า โดยให้สามารถมาแจ้งขออนุญาตครอบครองได้


กำลังโหลดความคิดเห็น