อุดรธานี - บสย.พร้อมสานฝันโครงการค้ำประกันเงินกู้ 2.4 แสนล้านบาท และค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใหม่ 1 หมื่นล้านบาท เล็งขยายฐานลูกค้าในแบบรายจังหวัด พร้อมดึงสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการร่วมกิจกรรมเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน
วันนี้ (14 มี.ค.) นายมโนฑ ศรีพรมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จำกัด (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย.ในระดับภาคทั้ง 9 สาขา พร้อมขับเคลื่อนโครงการค้ำประกันเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) หลังจากได้ประกาศโครงการค้ำประกันเงินกู้ 240,000 ล้านบาท เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหม่อายุไม่เกิน 3 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พร้อมกับลงนามความร่วมมือกันระหว่าง บสย. และพันธมิตรสถาบันการเงินภาครัฐ และเอกชน 18 แห่ง โดยวงเงินค้ำประกันเงินกู้ 240,000 ล้านบาท เป็นวงเงินสูงสุดเท่าที่รัฐบาลเคยอนุมัติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้เอสเอ็มอี โดย บสย.ทั้ง 9 สาขา พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการเต็มที่
สำหรับกลยุทธ์ของสำนักงานสาขาอุดรธานีนั้น จะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ค้ำประกันเงินกู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี Portfolio Guarantee Scheme ระยะ 5 วงเงินค้ำประกัน 240,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริการสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุน และขยายธุรกิจในต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์ค้ำประกันเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการใหม่ PGS New/START-UP ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บสย.ยังเตรียมแผนขยายฐานลูกค้าแบบรายจังหวัด โดยจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างธนาคาร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดกิจกรรมสัมมนาระหว่างธนาคาร ลูกค้า และบสย. แผนการจัดกิจกรรมพิเศษร่วมกับ 3 สภา เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมี บสย.ให้การค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาด เพื่อบริการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ปีนี้ เข้าถึงเป้าหมายวงเงินค้ำประกัน 80,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี
นายมโนฑ กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการค้ำประกันสินเชื่อโดยการสนับสุนของ บสย.ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะรายใหม่ ในปี 2556 พบว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ มียอดค้ำประกัน 22 ราย ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายธุรกิจมีการเติบโตเช่นกัน โดยมียอดค้ำประกัน 858.389 ล้านบาท คาดว่าผลการดำเนินงานของ บสย.สาขาอุดรธานีปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าขยายวงเงินประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นเงิน 5,300 ล้านบาท