ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวประจวบฯ ร่วมจัดกิจกรรม “วันช้างไทย” และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี 19 ตัว ที่เสียชีวิตในเขตอุทยานฯ เพื่อระลึกถึงช้างซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของคนไทย และเพื่อสร้างจิตสำนึกในการรัก และหวงแหนสัตว์ป่า ส่งเสริมอนุรักษ์ช้างป่ากุยบุรีตามแนวพระราชดำริ
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่หอประชุมโรงเรียนกุยบุรีวิทยา อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ช้างที่ตายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีจำนวน 19 ตัว เนื่องในวันช้างไทย โดยมีนายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี น.ส.พสิษฐ์ตา อินทรพันธ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน นักเรียน นักศึกษา องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่า WWF ประเทศไทย ชมรมเรารักษ์กระทิงไทย เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนสาย โดยนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ และมาติกาบังสกุลอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ช้างที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ นายอำเภอกุยบุรี ได้ทำพิธีบวงสรวงโครงกระดูกช้างป่า นำทองคำเปลวมาปิดที่กระโหลกศีรษะช้างป่ากุยบุรี และคล้องพวงมาลัยดอกดาวเรือง หลังจากนั้นไปทำพิธีบวงสรวงที่รูปปั้นช้างป่า
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ผืนป่ากุยบุรีเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีความหลากหลายทางรบบนิเวศ และชีวภาพ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายาก เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง ฯลฯ ในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมามีการบุกรุกของนายทุน และราษฎรจนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างจนเกิดปัญหารุนแรงขึ้น และพบช้างตายซึ่งสร้างความเศร้าสะเทือนใจให้แก่ชาวไทยทั่วประเทศ
จนกระทั่งความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้นำผืนป่ากลับคืนมา จนเป็นฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2542 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเพื่อแก้ไขความรุนแรงระหว่างคนกับช้าง เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2542 โดยทรงมีพระราชดำรัส ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ
นอกจากนั้น ส่วนราชการ องค์กรต่างๆ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำให้แก่ช้าง และสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จนกระทั่งนักท่องที่ยวสามารเข้าชมช้างป่า กระทิง วัวแดง ได้ทุกวันในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ยังมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม ต่างสร้างจิตสำนึกในการรัก และหวงแหนสัตว์ป่า ส่งเสริมการรักช้างป่ากุยบุรีตามแนวพระราชดำริคนกับช้าง