xs
xsm
sm
md
lg

ชาวชากบกเผาข้าวหลาม 7 พันกระบอก ในงานบุญข้าวใหม่เดือน 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านจาก 10 หมู่บ้าน ในตำบลชากบก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ร่วมเผาข้าวหลาม 7,000 กระบอก กลางทุ่งในงานประเพณีทำบุญข้าวใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “บุญข้าวใหม่เดือนสาม”

วันนี้ (9 มี.ค.) ชาวบ้านจาก 10 หมู่บ้าน ในตำบลชากบก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ได้ร่วมกันเผาข้าวหลาม จำนวน 7,000 กระบอก ความยาวกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการเผาข้าวหลามที่ยาวที่สุดในโลก ในงานประเพณีทำบุญข้าวใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “บุญข้าวใหม่เดือนสาม” ซึ่งเป็นพิธีทำบุญข้าวใหม่ของชาวบ้านที่บริเวณหน้าเทศบาลตำบลชากบก          

นายสมพร แสงกระจ่าง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลชากบก กล่าวว่า การเผาข้าวหลามซากบก ถือเป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี แต่เริ่มจางหายไปเมื่อ 20 ปีก่อน และเพิ่งนำกลับมารื้อฟื้นใหม่ได้เพียง 3-4 ปีที่ผ่านมา          

ในอดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่ตำบลชากบก ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน และทำไร่ และมีความเชื่อว่า ผลผลิตทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา และพระแม่โพสพคอยปกป้องพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ให้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนศัตรูพืชทั้งหลาย ปัจจุบัน ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นค่อยๆ เลือนหายไปจากท้องถิ่น คนรุ่นหลัง เด็กและเยาวชนไม่รู้จัก ไม่ได้สัมผัสในประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่          

การทำบุญข้าวหลามจะเริ่มขึ้นก่อนวันพระ หรือเรียกกันว่าวันโกนนั่นเอง และเป็นประเพณีที่สืบสานกันมาจากบรรพบุรุษ จะทำเป็นประจำทุกปีหลังจากเสร็จสิ้นฤดูเกี่ยวข้าว เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์จากพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เกี่ยวได้ และชาวบ้านยังอิ่มหนำสำราญสนุกสนานจากการร้อง เล่น เต้น รำ          

ด้านนายจินดา บุญสม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลชากบกกล่าวว่า ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลชากบก ร่วมกิจกรรมเผาข้าวหลามแบบโบราณ ซึ่งเป็นการเผาโดยปักก้นกระบอกลงในพื้นดินเรียงเเถวที่เตรียมไว้ แล้วใช้ไม้ฟืนเรียงขนานสองข้าง และทำการเผาข้าวหลาม โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตามแต่ขนาดของกระบอก เพราะการเผาแบบโบราณจะได้ข้าวหลามที่รสชาติหวานหอมอร่อยกว่าการเผาแบบสมัยใหม่ที่กระบอกไม่ฝังดิน หรือเผาด้วยแก๊ส

เมื่อเผาข้าวหลามเสร็จ ช่วงเย็นจะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็น และพิธีทำขวัญข้าว ซึ่งเป็นข้าวเปลือกที่ชาวบ้านร่วมกันนำมาทำพิธี หลังจากเสร็จพิธีการทำขวัญข้าวจะมีการละเล่นพื้นเมือง และชมมหรสพ

กำลังโหลดความคิดเห็น