ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สสจ.โคราช สั่ง จนท.สาธารณสุข และ อสม.ทั้งจังหวัดคุมเข้มจับตาสัตว์ปีกป่วยตายในพื้นที่ และการเคลื่อนย้ายสัตว์จากที่อื่นเข้ามาโดยเฉพาะจากชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก หลังพบระบาดหนักในเขมรป่วย 9 รายตายแล้ว 5 พร้อมเร่งให้ความรู้ ปชช.ไม่สัมผัสเป็ดไก่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์ไข้หวัดนกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และมาตรการเฝ้าระวังป้องกันหลังมีการระบาดหนักที่กัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านว่า จากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกในประเทศกัมพูชาทั้งหมด 9 คน เสียชีวิตแล้ว 5 คน ซึ่งไข้หวัดนกนี้เป็นโรคที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หากใครเป็นแล้วได้รับการรักษาช้าทำให้เสียชีวิตได้
ในส่วนของประเทศไทยมีการเฝ้าระวังเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครือข่ายของสาธารณสุขลงถึงหมู่บ้าน ชุมชน ฉะนั้นหากพื้นที่ใดมีสัตว์ปีก ไก่ เป็ดตายจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะรู้ก่อนซึ่งตรงนี้เป็นข้อดี และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็เป็นหูตาเป็นตาให้ด้วย เมื่อพบเหตุการณ์ที่น่าสงสัยจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะแจ้งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ให้เข้าไปตรวจดูเป็ดไก่ที่ตายว่าป่วยเป็นไข้หวัดนกหรือไม่ ขณะเดียวกัน อสม.ยังให้ความรู้แก่ชาวบ้านไม่ให้เข้าไปสัมผัสไก่หรือเป็ดที่ตายด้วย ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นประเทศกัมพูชานั้นเพราะเด็กไปสัมผัสไก่เป็ดที่ตายด้วยโรคไข้หวัดนกและติดเชื้อ จึงทำให้มีการแพร่ระบาดมากดังกล่าว
นพ.วิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับ จ.นครราชสีมา จนถึงขณะนี้ยังไม่พบมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่เพื่อความไม่ประมาทสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปศุสัตว์จังหวัด เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจะเข้าไปตรวจสอบทันที ตอนนี้พบเพียงการระบาดของไข้หวัดธรรมดาซึ่งเกิดขึ้นตามฤดูกาลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลังมีการระบาดที่ประเทศกัมพูชา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดตนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับพื้นที่ทุกอำเภอและ อสม.เฝ้าระวังเป็นพิเศษแล้ว หากพบมีเป็ด ไก่ตายในพื้นที่ หรือสัตว์ปีกตายเป็นจำนวนมาก หรือมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกในพื้นที่มาจากจังหวัดแถบแนวชายแดนไทยกัมพูชา ขอให้แจ้งมายังสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อที่จะได้แจ้งต่อไปยังปศุสัตว์จังหวัดเข้าไปตรวจสอบ
“ล่าสุดจนถึงขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่ง จ.นครราชสีมาไม่พบการระบาดของไข้หวัดนกมานานหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่จะปรากฏข่าวในแถบภาคกลางมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าจะควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ได้” นพ.วิชัยกล่าวในที่สุด