เลย - ชาวบ้านวังเย็น ต.นาดอกคำ อ.เมืองเลย ยื่นค้านเปิดเหมืองแร่เหล็กต่อผู้ว่าฯ เลย เกรงได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิต ทั้งผู้ใหญ่บ้านพยายามรวบรัดว่าชาวบ้านเห็นด้วย ชี้ต้องเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
วันนี้ (22 ก.พ. 56) ตัวแทนชาวบ้านวังเย็น ต.นาดอกคำ อ.เมือง จ.เลย นำโดย น.ส.ชนกนันท์ ชุมพล เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อคัดค้านการให้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่เหล็กในพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน มีรายชื่อประชาชนร่วมคัดค้านประมาณ 100 รายชื่อ แต่นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ติดราชการที่ สปป.ลาว มีเพียงเจ้าหน้าที่หน้าห้องรับเรื่องแทน
หนังสือฉบับนี้ระบุว่า ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ออกประกาศเรื่อง ขอประทานบัตรทำเหมือแร่เหล็ก โดยเอกชนรายหนึ่ง คำขอที่ 6/2555 เนื้อที่ประมาณ 129 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 10 ต.นาดอกคำ อ.นาด้วง จ.เลย ประชาชนในพื้นที่ขอคัดค้านการยื่นขอประทานบัตรดังกล่าว เกรงว่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ซึ่งกระบวนการยื่นขออนุญาตไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยเฉพาะการเปิดเวทีประชาคม รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ประชาชนยังไมได้รับข้อมูลและรายละเอียดผลกระทบ ตลอดจนผลดีและผลเสียที่จะได้รับจากการทำเหมืองแร่เหล็กดังกล่าวอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ แต่ผู้ใหญ่บ้านรวบรัดว่าชาวบ้านเห็นด้วย ขณะเดียวกันการปิดประกาศให้ยื่นคัดค้ารใน 20 วันนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ เพราะผู้ใหญ่บ้านไม่ได้นำประกาศมาปิดไว้ในที่สาธารณะมีเจตนาปิดบัง
ทั้งนี้ นายอำเภอนาด้วงได้ส่งหนังสือที่ ลย 1018.1/ว 172 ลงวันที่ 16 มกราคม 2556 เรื่อง ส่งประกาศการขอประทานบัตรให้กำนันตำบลนาดอกคำ ผู้ใหญ่บ้านโพนสว่าง หมู่ 3 และหมู่ 10 ต.นาดอกคำ ให้นำประกาศของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เกี่ยวกับการขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่เหล็กดังกล่าวไปปิดประกาศให้ประชาชยื่นคัดค้านภายใน 20 วัน แต่ผู้ใหญ่บ้านวังเย็นหมู่ 10 ต.นาดอกคำ กลับระบุว่า ปิดประกาศวันที่ 12 มกราคม 2556 จึงตั้งข้อสังเกตว่าผู้ใหญ่บ้านส่อเจตนาปลอมแปลงเอกสารทางราชการ เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดประกาศก่อนหนังสือแจ้งจากทางอำเภอจะส่งมาถึง จึงขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนว่าจะชุมชนจะได้รับผลกระทบหรือได้รับผลดีอย่างไรบ้าง ตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 และขอให้หยุดกระบวนการขออนุญาตทำเหมืองแร่ดังกล่าวไว้ก่อน โดยขอให้แจ้งผลดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้ประชาชนทราบภายใน 10 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ชาวบ้านจะมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เข้ายื่นหนังสือ ณ ที่ว่าการอำเภอนาด้วงมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับปฏิเสธที่ลงรับหนังสือให้ อ้างเหตุผลว่าจะรอถามนายอำเภอก่อน