xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นระทึก! ช้าง “พังวาริน” สุรินทร์ ให้กำเนิดลูกน้อยเชือกแรกแห่งปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุ้นระทึก ! ช้าง “พังวาริน” โครงการคชอาณาจักร อ.ท่าตูม  จ.สุรินทร์ ให้กำเนิดลูกน้อยเป็นเชือกแรกแห่งปี  เพศเมียน้ำหนัก 80 ก.ก. ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง สัตวแพทย์ต้องดูแลใกล้ชิด วันนี้ ( 21 ก.พ.)
สุรินทร์ - ลุ้นระทึก! ช้าง “พังวาริน” โครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ ให้กำเนิดลูกน้อยเป็นเชือกแรกของปี 56 เผยเป็นเพศเมีย น้ำหนัก 80 กก. ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง มีอาการอ่อนเพลีย ไม่สามารถลุกขึ้นยืนและดูดน้ำนมจากแม่ได้ สัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (21 ก.พ. 56) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โครงการคชอาณาจักร ในความรับผิดชอบขององค์การสวนสัตว์ฯ หมู่บ้านช้างสุรินทร์ บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ แม่ช้างชื่อพังวาริน อายุ 8 ปี มีนายป๋อง มีพันธุ์ เป็นเจ้าของที่ตั้งท้องมาเป็นเวลา 22 เดือน ได้ตกลูกอย่างปลอดภัย เป็นช้างพังหรือช้างเพศเมีย น้ำหนัก 80 กิโลกรัม แต่สภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ประกอบกับพังวารินเป็นแม่ช้างอายุยังน้อยและเพิ่งมีลูกเป็นเชือกแรก ทำให้ควาญช้าง เจ้าของช้าง และสัตวแพทย์ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับช้างน้อยที่เกิดใหม่ในวันนี้ ถือเป็นช้างเชือกแรกของปี 2556 ซึ่งสร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับเจ้าของช้างและเจ้าหน้าที่ทุกคน ส่วนพ่อของช้างน้อย คือ “พลายอินทนนท์” อายุ 22 ปี เป็นช้างอยู่ในโครงการคชอาณาจักรเช่นเดียวกัน โดยปี 2555 ที่ผ่านมาหมู่บ้านช้างสุรินทร์มีช้างน้อยเกิดใหม่จำนวน 12 เชือก ทำให้ปัจจุบันช้างของโครงการคชอาณาจักรในความดูแลขององค์การสวนสัตว์ฯ และช้างของศูนย์คชศึกษา ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ มีจำนวนรวม 214 เชือก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น. หลังจากช้างน้อยตกออกจากท้องแม่มาเป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่สามารถลุกยืนและดูดน้ำนมจากแม่ได้ ทำให้ช้างน้อยมีอาการอ่อนเพลียเป็นอย่างเห็นได้ชัด

ต่อมานายสุริยะ ร่วมพัฒนา รองนายก อบจ.สุรินทร์ และอดีต ส.ส.สุรินทร์ ซึ่งอดีตเป็นคนเลี้ยงช้าง เดินทางมามาดูช้างน้อยที่เกิดใหม่ดังกล่าว โดยได้นำน้ำเกลือมาล้างปาก ทำความสะอาดงวงและหาผ้านุ่มมาวางรองพื้นให้ช้างน้อยได้นอน พร้อมประสานงานกับสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้างสุรินทร์ให้เดินทางมาดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

ขณะที่แม่ช้าง พังวาริน เมื่อเห็นลูกน้อยไม่สามารถลุกขึ้นยืนและดูดดื่มนมได้ จึงส่งเสียงร้องและพยายามเข้ามาหาลูกน้อยพร้อมใช้เท้าดึงโซ่และตีโซ่กระทบพื้นแสดงอาการโมโหที่ไม่สามารถเข้ามาหาลูกช้างน้อยที่นอนอยู่ตรงหน้าได้ ซึ่งควาญช้างต้องคอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดเวลาเพราะหากปล่อยให้เข้าถึงตัวลูกอาจเป็นอันตรายต่อช้างน้อยได้ เพราะเป็นแม่ช้างใหม่ที่เพิ่งมีลูกเป็นเชือกแรกยังเลี้ยงดูแลลูกไม่เป็น



กำลังโหลดความคิดเห็น