เชียงราย - ลาว-พม่าบรรลุข้อตกลงสร้างสะพานข้ามน้ำโขงแห่งแรก พร้อมวางศิลาฤกษ์เริ่มเดินเครื่องก่อสร้างแล้ว เปิดเส้นทางหมายเลข 17 E ในลาว เชื่อมตรงถึงอินเดีย-บังกลาเทศ
วันนี้ (19 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพม่าได้บรรลุข้อตกลงก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงพม่า-ลาวแห่งแรกแล้ว วงเงินก่อสร้างรวม 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พม่าและลาวจ่ายฝ่ายละ 50% กำหนดสร้างแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2558 หรือ 30 เดือน หลังจากที่ได้ประชุมหารือกันมาหลายรอบ
ล่าสุดทั้ง 2 ประเทศได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีท่านสมมาด พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธิการและซ่อมสร้าง ดร.พิมมะสอน เลืองคำมา เจ้าแขวงหลวงน้ำทา ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้าง ประเทศพม่า เป็นประธานในพิธีที่จุดก่อสร้าง ระหว่างฝั่งบ้านห้วยกุ่ม เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา และเมืองเชียงลาบ หรือเวียงแคว้นสา หรือเมืองโขง หรือโขงโค้ง จ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า
สะพานดังกล่าวออกแบบให้มีความยาว 691.60 เมตร กว้าง 10.9 เมตร มี 2 ช่องทาง กว้าง 8.5 เมตร ทางเดินเท้าทั้ง ฝั่งละ 1.2 เมตร รับน้ำหนักรถยนต์บรรทุก 10 ล้อได้ 75 ตัน รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ตาม 7 ริกเตอร์ และเนื่องจากแม่น้ำโขงจะมีเรือสินค้าหลากหลายสัญชาติวิ่งขนส่งสินค้า จึงกำหนดความสูงของสะพานให้เรือขนาด 599 ตันกรอส ลอดผ่านได้อีกด้วย
ทั้งนี้ สะพานดังกล่าวจะเชื่อมถนนหมายเลข 17 E ซึ่งเป็นทางหลวงในลาว สามารถเชื่อมไปยังประเทศเวียดนาม หรือขึ้นเหนือไปจีน และตรงไปยังอินเดียหรือบังกลาเทศได้ ส่วนฝั่งพม่ามีถนนที่จะเชื่อมไปยังถนน R3B ที่ตัดผ่านแนวเหนือ-ใต้
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า การมีสะพานแม่น้ำโขงเชื่อมพม่าและลาว ถือเป็นมิติใหม่ในเชิงรุกของทั้ง 2 ประเทศ ที่เราไม่ค่อยพบเห็นกันมากนัก โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพราะในอดีตมักเห็นประเทศใหญ่เป็นฝ่ายสนับสนุนการก่อสร้าง หรือเข้าไปผลักดัน รวมทั้งธนาคารระหว่างประเทศอื่นๆ
“หากสะพานดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้น จากในปัจจุบันมีถนน R3B เชื่อมไทย-พม่า-จีน ถนน R3A เชื่อมไทย-ลาว-จีน และแม่น้ำโขง นอกจากจะทำให้เกิดพัฒนาการด้านการค้าและการคมนาคม ยังทำให้การท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้น เพราะสภาพภูมิประเทศของพม่าและลาว เป็นป่าเขาและชนบทที่จะถูกเปิดตัวสู่โลกภายนอก”