ศูนย์ข่าวศรีราชา - “บรรณวิทย์” พร้อมแนวร่วม นำชาวบ้านมาบข่า เมืองมาบตาพุดกว่า 100 คน บุกค้านโรงงานถ่านหินโค้ก เจรจายังไม่ได้ข้อสรุป
เมื่อเวลา 12.30 น. วันนี้ (16 ก.พ.) พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มสยามไทย พร้อมนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอธิวัฒน์ บุญชาติ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านสันปันน้ำ แกนนำกลุ่มอีสานกู้ชาติ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตส.ว. และนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ ได้มาพบกับนายขจรศักดิ์ จันทร์มณี แกนนำชาวบ้าน ต.มาบข่า อ.พัฒนานิคม จ.ระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด และชาวบ้านกว่า 100 คน เพื่อร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไทยเจนเนอรัลไนซ์ โคล แอนด์ โค้ก (ถ่านหินโค้ก) ที่หน้าประตูทางเข้าโรงงาน ริมถนนเลี่ยงเมือง สาย 36 ต.มาบข่า
โดย พล.ต.ต.เชิดชาย เสขะนันทน์ ผบก.ภ.จว.ระยอง พ.ต.อ.สมนึก บุรมิ รอง ผบก.ภ.จว. และ พ.ต.อ.เสถียร บุญค้ำ ผกก.สภ.นิคมพัฒนา นำกำลังตำรวจทั้งใน และนอกเครื่องแบบมาอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัย เนื่องจากช่วงเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นในระยะ 5,800 เมตร หลังโรงงาน ซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
พล.ต.ต.เชิดชาย กล่าวถึงเสียงระเบิดว่า กองพิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจสอบพบว่าป็นถังขนาด 200 ลิตร ถูกฝังอยู่ใต้ดิน และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์ว่าระเบิดขึ้นได้อย่างไร ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ก่อนการชุมนุมนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องรอการตรวจสอบทางวิชาการก่อน
ด้านนายวุฒิพงษ์ กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการใหญ่ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจทางการเมือง และการทำธุรกิจเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โรงงานแห่งนี้ถือเป็น 1 ในพันตัวอย่าง ซึ่งเป็นประโยชน์ทางการเมือง
ขณะที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ได้นำแกนนำชาวบ้านา และคณะถือป้ายคัดค้านการก่อสร้างโรงงานที่บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าโรงงาน โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงงาน และตำรวจดูแลความเรียบร้อยภายในโรงงาน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ และแกนนำชาวบ้าน
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าหน่วยงานในพื้นที่ปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารในลักษณะโรงงานถ่านหินโค้กได้อย่างไร ทั้งที่มีการสั่งระงับการก่อสร้างไปแล้ว ขณะที่ใบอนุญาตดำเนินการก็ไม่มี แต่ก่อสร้างปล่องไฟเสร็จแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะทุบทิ้งได้อย่างไร
“ชาวบ้านต้องการให้รระงับการก่อสร้างจนกว่าจะมีการเจรจากับชาวบ้านเพื่อหาข้อยุติเสียก่อน”